ป้าย-เครื่องหมายจราจรที่ใช้ในประเทศเนเธอแลนด์/ดูวิดีโอด้วย

ป้าย-เครื่องหมายจราจรที่ใช้ในประเทศเนเธอแลนด์
Road Signs and Regulation for Cycling in the Netherlands

 

           ป้าย-เครื่องหมายจราจรที่ใช้กันในประเทศยุโรป นิยมใช้สีน้ำเงินกับสีแดง(ใน สรอ.นิยมใช้สีเหลืองกับสีดำ) หลักง่ายๆคือ ป้ายบังคับต่างๆ ป้ายกลมขอบแดงบนพื้นขาวเป็นป้าย "ห้าม" สีน้ำเงินเป็นป้าย "ให้ปฏิบัติ" ป้ายสามเหลี่ยมขอบแดงเป็นป้าย "เตือน"
           ป้ายบังคับที่ใช้มี ป้าย"ทางจักรยานหรือช่องเดินรถจักรยาน" บังคับให้รถจักรยานต้องใช้ทางที่กำหนดนั้น ป้าย"ให้ไปตรงเท่านั้น" "ให้เลี้ยวขวาหรือซ้าย" “ให้วิ่งทางเดียว" “ให้จักรยานวิ่ง 2 ทาง"บนถนนที่ทำทางจักรยานไว้เพียงฟากเดียว “จักรยานวิ่งทางเดียว" แต่มีทางให้จักรยานกลับได้อีกฟากหนึ่งของถนนเดียวกัน
           ป้ายบังคับที่ในบ้านเราไม่มีใช้ คือ "ถนนจักรยาน"สำหรับให้จักรยานเป็นเอกแต่รถอื่นวิ่งร่วมได้ด้วยความเร็วไม่เกิน 30 kph/กม.ชม. และมีป้าย“ถนนจักรยาน-ห้ามรถยนต์แซง" ที่เราควรทราบคือ บนถนนจักรยาน จะไม่มีเส้นตีเป็นทางหรือช่องเดินรถจักรยาน แต่ในคูเวียงเชียงใหม่มีการทำเครื่องหมายบนผิวถนนราชวิถีและสายอื่นอีกหลายสายเป็น"ถนนจักรยาน" แต่มีช่องเดินรถจักรยานซึ่งให้รถยนต์จอดได้แบบสลับวัน ขัดแย้งกับกฎมหายจราจรของเราเองที่กำหนดว่า "ห้ามรถจอดในทาง" หรือ "ให้จักรยานวิ่งในทาง" ที่จัดทำขึ้น น่าจะเป็นการจัดทำระบบสัญจรและระบบจราจรด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือผู้รับผิดชอบออกแบบไม่เข้าใจหลักการที่ควรใช้หรือไม่
            ป้ายบังคับ "ห้าม" ได้แก่ "ห้ามเข้า" เช่น “ห้ามรถยนต์" หรือ "ห้ามรถชนิดอื่นที่แสดงรูปรถนั้นๆเอาไว้"
            ที่บ้านเรายังไม่เคยมีและผู้ที่มีหน้าที่กำหนดมาตรฐานระบบสัญจรและระบบจราจรยังไม่เคยเสนอให้ทราบกันว่าเรามีแล้วหรือไม่ ได้แก่ป้ายเสริมป้ายบังคับหลัก ซึ่งในประเทศยุโรปนิยมใช้กันเพื่อส่งเสริมความสะดวก ให้คนนิยมหรือหันมาใช้จักรยานกันมากขึ้นได้แก่ ป้ายเสริมต่างๆ เช่น "ให้จักรยานวิ่งสองทาง" เสริมกับป้าย "ห้ามเข้า" หรือ "วิ่งทางเดียว" หรือป้ายเสริม "ยกเว้นจักรยาน" สำหรับป้าย "ห้ามเข้า" และป้าย “ให้เลี้ยวขวา/ซ้าย" ทำให้ผู้ใช้จักรยานได้รับความสะดวกและความปลอดภัย ผู้ใช้รถยนต์/มอเตอร์ไซค์หันมาใช้จักรยานเพิ่มขึ้น
            นอกจากนั้นก็มีป้ายอื่นๆ ที่บ้านเราไม่เคยมีใช้อีกหลายอย่าง แต่ท่านจะเห็นในวิดีโอ 6นาทีกว่าเรื่องนี้ และนำไปคิดทดลองใช้เพื่อนำไปพิจารณาทำให้มีอยู่ในกฎหมายจราจรของบ้านเราต่อไป
            สนใจชมวิดีโอเรื่องนี้กรุณาคลิ๊กที่นี่
                                                                                           นิรันดร โพธิกานนท์/Nirandorn Potikanond

 

LOGO GWF logo tcc logo rabn logo SSS