เมื่อใดจึงจะถึงเวลาที่จะควบคุมจำนวนรถยนต์ไม่ให้มีมากเกินไป !!!
นิรันดร โพธิกานนท์
จำนวนรถยนต์มากเกินไป คือสภาพที่เราเริ่มรู้สึกและพบเห็นว่า ในวันทำงาน ตามทางแยกต่างๆจะมีรถยนต์รอผ่านสัญญาณไฟจราจรเขียว-แดงกันยาวนานมาก กว่าจะหลุดไปได้ก็ต้องรอในครั้งที่สอง หรือมากกว่านั้น เมื่อเราขับรถไปธุระต่างๆ ณ สถานที่ราชการก็ต้องวนหาที่จอดรถอยู่นานกว่าจะได้ที่จอด หรือไม่ก็ต้องไปจอดไกลมากจึงจะมีที่จอด ถนนสุเทพมีรถจอดอยู่ตลอดเวลาทั้งสองฟากถนนทุกวัน ลานจอดรถในโรงพยาบาลมหาราชก็มีรถจอดเต็มไปหมด ถนนเจริญเมืองค่อยยังชั่วหน่อยเพราะให้จอดสลับวันคู่กับวันคี่กัน ส่วนถนนจราจรทางเดียวเช่นช้างม่อยกับลอยเคราะห์ก็ให้รถจอดด้านซ้ายมือตลอดแนวซึ่งควรให้เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจการค้าของร้านที่อยู่ทั้งสองฟากถนน เพราะฟากขวาได้กำหนดห้ามจอดตลอดเวลา ซอยต่างๆที่เชื่อมโยงถนนช้างม่อยกับถนนท่าแพ..รวมทั้งถนนท่าแพกับถนนลอยเคราะห์ ก็เริ่มมีรถยนต์จอดยาวเพิ่มจำนวนขึ้นทุกวัน ซึ่งซอยแคบๆดังกล่าวที่มีรถยนต์จอดอยู่กันมากขึ้นเรื่อยๆนี้ทำให้รถยนต์อื่นๆเคลื่อนผ่านไปได้ยาก เช่นรถพยาบาลช่วยเหลือคนป่วยฉุกเฉินในซอยเหล่านั้น และหากมีเหตุไฟไหม้ในซอยต่างๆ รถยนต์ที่จอดอยู่นี้จะกีดขวางรถดับเพลิงซึ่งมีขนาดใหญ่ที่จะเข้าไปดับเพลิงในซอยต่างๆได้อย่างราบรื่นและทันเหตุการณ์
ส่วนในเขตพื้นที่สี่เหลียมคูเวียงนั้น ได้มีการบังคับให้รถจักรยานยนต์ของนักเรียนและนักศึกษาหลายโรงเรียนและวิทยาลัยเข้าไปจอดภายในสถาบันของตน แทนที่เคยให้จอดตามแนวถนนพระปกเกล้าและถนนเวียงแก้ว จึงทำให้ถนนมีพื้นผิวจราจรกลับมาเป็นประโยชน์เหมือนเดิมซึ่งฝ่ายที่ดำเนินการให้เป็นไปดังกล่าว สมควรได้รับการยกย่องชมเชย และเรื่องนี้ได้พิสูจน์ว่ารถจักรยานยนต์ไม่ก่อให้เกิดปัญหารถติดและใช้ที่จอดมากเหมือนรถยนต์ แต่เป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูงกว่า
แต่เดิมการซื้อรถยนต์ไว้ใช้และจดทะเบียนถือครองนั้น ถือเป็นสิทธิอย่างหนึ่งของคนไทย ที่ไม่เคยคิดว่าจะก่อให้เกิดปัญหาใดๆต่อผู้อื่น แต่สภาพบ้านเมืองที่เปลี่ยนไป และจำนวนรถยนต์ที่มากเกินไปกับการจอดรถที่ขยายไปตามถนนและซอกซอยซึ่งมีอยู่เท่าเดิม ทำให้การใช้รถยนต์ส่วนตัวเริ่มส่งผลกระทบต่อสิทธิสาธารณะของประชาชนส่วนรวมแล้ว พูดง่ายๆก็คือ รถที่เพิ่มขึ้นในอนาคตต่อไปจะเริ่มไปก่อกวนความสะดวกสบายของสาธารณะชนเพิ่มขึ้น ทำให้ทุกคนเดินทางช้าลงเพราะมีสิ่งกีดขวางมากขึ้น และทำให้เพิ่มความยากลำบากในการปฏิบัติการควบคุมสาธารณะภัยยิ่งขึ้น
แนวทางป้องกันหรือแก้ไขปัญหาจำนวนรถยนต์มากเกินไป ต้องใช้หลายมาตรการหรือใช้ยาบำบัดหลายขนาน เช่น
๑. เพิ่มเส้นทางเดินรถประจำทางสาธารณะติดแอร์ของเทศบาล และปรับปรุงให้รถมีเวลาวิ่งเข้า-ออก แสดงไว้ให้คนใช้ประโยชน์ตามป้ายหยุดรับส่งผู้โดยสารที่สำคัญๆ ให้ผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัวซึ่งส่วนใหญ่ติดแอร์..หันมาใช้บริการและมั่นใจว่าจะเดินทางถึงที่หมายได้ทันเวลาที่ต้องการ
๒. ให้ผู้ที่จะซื้อรถยนต์และจดทะเบียนในอนาคตต้องสำแดงว่ามีที่จอดรถของตนที่บ้านและ..ณ สถาน ที่ทำงานหรือสถานศึกษาในชีวิตประจำวัน ต่อสำนักงานขนส่ง โดยมีการรับรองว่ามีที่จอดรถดังกล่าว ก่อนจะได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนรถยนต์ได้
๓. ขยายโครงข่ายเส้นทางจักรยานจากจุดต่างๆให้คนมั่นใจว่าใช้จักรยานไปทำงานและไปเรียนได้ด้วยความมั่นใจว่าปลอดภัย
๔. เก็บค่าจอดรถยนต์ในอัตราสูงขึ้นแบบก้าวหน้าในถนนที่ยอมให้จอดรถได้ ผู้ที่มีความจำเป็นต้องจอดจริงคือผู้ที่ยอมเสียค่าจอดนั้น หากไม่จำเป็นจริงจะไม่เอารถมาจอด
มาตรการที่เสนอมา ๔ ข้อนี้ จะส่งผลให้คนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวลงไม่มากก็น้อย หรือซื้อรถยนต์ใช้น้อยลง ซึ่งต้องร่วมกันหลายฝ่าย ถ้าเริ่มใช้มาตรการเหล่านี้เมื่อมีรถยนต์มากเกินไปแล้ว และมีเสียงร้องเรียนต่อว่าเกิดขึ้นก่อน..ก็ถือว่าช้าไป แต่ถ้าเริ่มดำเนินการก่อนเกิดปัญหานั้นอย่างจริงจัง สาธารณะชนก็จะรู้สึกได้ถึงสิ่งที่มีการริเริ่ม แต่ต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้ล่วงหน้าว่าจะต้องเตรียมตัวเตรียมใจอย่างไร ที่สำคัญเราจะเห็นพ้องกันว่าควรจะเริ่มต้นมาตรการเหล่านี้เมื่อใด ????---------------------