มร.ไบค์แมน
ลงข่าวสารฉบับที่ 6 ปีที่ 6 เดือน มิถุนายน 2547
..........ฉบับนี้ ไบค์แมนขอยกเอาสาระซึ่ง ดร.บุญส่ง สัตโยภาส ศูนย์วิชาการจราจรและขนส่ง มช.ได้ศึกษาจาก ข้อเขียนของ Rodney Tolley ในเรื่อง “Obstacles to Walking and Cycling” ในหนังสือ The Greening of Urban Transport, John Wiley & Sons 1997 ไว้ว่า การเดินทางโดยจักรยานเป็นวิธีการเดินทางที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด สามารถเดินทางได้เร็วกว่าการเดิน 3-4 เท่า โดยใช้พลังงานเพียง 1/5 ของการเดิน เมื่อเทียบกับการเดินทางโดยยานพาหนะเครื่องยนต์อื่น ๆ จักรยานเป็นพาหนะที่มีประสิทธิภาพสูงสุดด้านการใช้พลังงาน และสิ่งที่ค้นจากเอกสาร Bicycle Blueprint, a plan to bring bicycling into the main stream in New York city (www.transalt.org/bluepirnt/) พบข้อเปรียบเทียบว่า พลังงาน 350 แคลอรี่ทำให้ผู้ใช้จักรยานเดินทางได้ไกล 10 ไมล์ ในขณะที่คนเดินเท้าไปได้แค่ 3.5 ไมล์ และรถยนต์ใช้แล่นไปได้เพียง 100 ฟุตเท่านั้น
..........ในเชิงสุขภาพนั้น Mayer Hillman เขียนในบทความเรื่อง The potential of non-motorised transport for promoting health (The Greening of Urban Transport) โดยอ้างถึงข้อมูลการศึกษาต่างๆ ว่าผู้มีอายุมากกว่า 70 ปี ซึ่งใช้จักรยานอย่างสม่ำเสมอมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจน้อยกว่ากลุ่มอื่นถึง 10 เท่า และมีความสมบูรณ์ของร่างกายเทียบเท่าบุคคลกลุ่มอื่นที่มีอายุน้อยกว่าถึง 10 ปี
..........ไบค์แมนจึงขอผสมโรงนำสิ่งดีๆที่คลุกคลีกับจักรยานด้วยตัวเองมาประยุกต์บอกกล่าวเพิ่มเติม สำหรับผู้ใช้จักรยานในเขตเมืองระยะใกล้ ในชีวิตประจำวันว่า ผู้ใช้จักรยานนั้น... ๑)เดินทางถูกตังค์ที่สุด ๒)ประหยัดพลังงานช่วยชาติได้ก่อนใครและไม่ต้องร่วมถลุงเงินอุดหนุนค่าน้ำมันเชื้อเพลิงของรัฐฯ ๓)ใช้พื้นที่ถนนต่อคันหรือต่อคนน้อยที่สุด ๔)กระฉับกระเฉงและมีสุขภาพดีถึงแม้ไม่ตั้งใจจะออกกำลังกาย ๕)เป็นพื้นฐานการเดินทางที่เท่าเทียมเพราะเรามีรถจักรยานได้ทุกคน ๖)ไม่ทำให้ผู้ร่วมทางตายหรือบาดเจ็บร้ายแรง ๗)ในสภาพจราจรติดขัดจะไปได้เร็วกว่าใคร ๘)ลัดเส้นทางได้ดีมาก..ถ้าขี่บ้างจูงบ้าง ๙)ถึงที่หมายทันเวลาแน่นอนที่สุด ๑๐) ทำให้จราจรสำหรับทุกคนติดขัดน้อยลง ๑๑)ช่วยให้ลมหายใจของเมืองเชียงใหม่มีคุณภาพดีแน่ๆ
..........นอกจากนั้น Wulf Huelsmann เขียนไว้ใน “Towards the bicycle-friendly town in Germany” (The Greening of Urban Transport)ว่า ผู้บริหารบ้านเมืองมีบทบาทสำคัญมาก ที่จะส่งผลให้การใช้จักรยานในเมืองนั้นๆประสบความสำเร็จได้ “ถ้าจะให้ชุมชนตระหนักถึงประโยชน์ของการใช้จักรยาน และเกิดความนิยมใช้จักรยานในการเดินทาง ผู้บริหารจำเป็นต้องถือเป็นนโยบายและเป็นผู้นำในการประชาสัมพันธ์ และสนับสนุนการใช้จักรยานอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง กำหนดเป็นนโยบายและให้ความสำคัญต่อการใช้จักรยานอย่างเท่าเทียมกับยานพาหนะประเภทอื่น สร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรกับจักรยาน โดยมีโครงข่ายทางจักรยานที่เชื่อมโยงและปลอดภัย ควบคุมความเร็วของรถยนต์ เช่น กำหนดโซนในเมืองให้แล่นได้ไม่เกิน ๒๐ - ๔๐ กม./ชม. และ จำกัดการจอดรถต่างๆบนถนน”
..........นอกจากนั้นไบค์แมนขอเพิ่มเติมว่า..หากเราให้สิ่งจูงใจแก่บุคคลากรของรัฐและเอกชนที่ปั่นจักรยานไปทำงานได้ ๕๐ วันและไม่ลาป่วยเลยเพราะสุขภาพดี ก็ควรชดเชยเป็นวันลาพักผ่อนประจำปีเพิ่มให้ ๑ วันสำหรับทุก ๕๐ วันเพราะจะใช้เงินของรัฐซ่อมสุขภาพน้อยกว่าใคร และหากได้งดการใช้รถยนต์ไปทำงานและใช้จักรยานแทน ก็ควรลดภาษีรถยนต์ให้ด้วย ๕% สำหรับทุก ๕๐ วันที่ใช้จักรยาน เพราะเขาปล่อยมลพิษให้ผู้อื่นน้อยลง และทำให้รัฐสิ้นเปลืองค่าซ่อมถนนน้อยลงด้วย หน่วยงานทั้งของรัฐและเอกชนก็จะมีที่จอดรถที่จำเป็นสำหรับผู้มาติดต่อธุระได้พอเพียงด้วย เราคงต้องมีข้อมูลเรื่องนี้ให้ตรวจสอบเป็นหลักฐาน..ด้วยการให้ผู้ปั่นจักรยานมาทำงานลงเวลาทำงานแยกต่างหาก ใครแจ้งข้อมูลเท็จเพื่อประโยชน์มิชอบก็น่าจะต้องเจอดี..คือไม่ดีไป !
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
แซว..เพื่อชีวิต
“ลืมคนซ้อนยังดีกว่าลืมใส่หมวก” ไม่งั้นโดนตำรวจจับนะ..จะบอกให้ !
“ดีใจจัง คันหลังก็ไม่เมา” ..มองหลังบ่อย..ระวังชนท้ายคันหน้านะจ๊ะ !