จักรยานยอดรัก

เฉลิมพล แซมเพชร
                         ลงข่าวสารฉบับที่ 6 ปีที่ 6 เดือน มิถุนายน 2547

..........ผมขี่จักรยานเป็นตั้งแต่ยังเป็นเด็กเรียนชั้นประถม แต่มาใช้ปั่นอย่างจริงจังในระหว่างการเรียนชั้นมัธยมต้น โดยใช้ปั่นไปโรงเรียนเนื่องจากโรงเรียนนั้นอยู่ไกลบ้าน (อยู่ในชนบทบ้านนอก) เกินกว่าที่จะเดินไป และการที่จะใช้รถมอเตอร์ไซด์ในยุคนั้น (เมื่อประมาณ 45 ปีที่แล้ว) ไม่ต้องฝันถึงเอาเลย เมื่อเรียนจบมัธยมต้นก็เข้าไปเรียนต่อมัธยมปลายในเมืองหลวง จากนั้นโชคดีได้มาเรียนต่อที่ มช. พ.ศ. 2508 (ก็คงพอประมาณอายุของผมได้) และหลังเรียนจบก็โชคดีอีกที่ได้ทำงานที่ มช. ก็ไม่ได้ปั่นจักรยานอีกเลยจนกระทั่งเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วจึงหันกลับมาปั่นอย่างจริงจังอีกครั้งจนถึงทุกวันนี้ คราวนี้คว้าเอาจักรยานเสือภูเขา และทำการฝึกฝนโดยมีเป้าหมายเพื่อใช้ปั่นท่องเที่ยวสัมผัสธรรมชาติในป่าเขาและเป็นการออกกำลังกายไปในตัวด้วย โดยมีทีมและเพื่อนคู่หูปั่นด้วยกันเป็นประจำ (เกือบ) ทุกวันอาทิตย์ และก็ยังทำอยู่ค่อนข้างสม่ำเสมอจนถึงเดี๋ยวนี้หลังจากที่ปั่นจักรยานเสือภูเพื่อความสุขสนุกสนานและเพื่อสุขภาพได้ประมาณร่วม 2 ปี ก็เริ่มมีกระแสเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ผลกระทบจากการจราจรแออัด และมลพิษมากขึ้นเป็นลำดับ ผมจึงโดดเข้าร่วมกับผู้ร่วมอุดมการณ์คนอื่น ๆ ในรูปแบบต่าง ๆ เท่าที่ทำได้โดยไม่รั้งรอ และแน่นอนสิ่งหนึ่งที่ผมทำทันทีคือการใช้จักรยาน (คู่ใจคันนั้น) ปั่นเดินทางไปทำงานทุกวันจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ หากฝนไม่ตกหรือไม่มีกิจธุระอื่นที่จำเป็น รวมทั้งใช้ทำกิจธุระในเมืองหรือที่ศูนย์การค้าในวันเสาร์หรือวันหยุดเพราะไม่ต้องหงุดหงิดกับเรื่องการหาที่จอดรถ และไม่ต้องเสียเงินค่าที่จอดรถ (สำหรับบางที่)
..........นับตั้งแต่วันที่ผมเริ่มใช้จักรยานปั่นไปทำงานจนถึงวันนี้นับรวมเวลาได้ร่วม 7 ปี ถ้าหากคิดเป็นระยะทาง (เฉพาะการไปทำงาน) รวมกันแล้วคงไม่น้อยทีเดียว และถ้าคิดเป็นเรื่องของการประหยัดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงก็คงไม่น้อยเช่นกัน จึงนึกสนุกลองคิดคำนวณดูว่าการที่ผมปั่นจักรยานไปทำงานนั้นช่วยประหยัดค่าน้ำมันเชื้อเพลิงคิดเป็นเงินได้สักกี่สตางค์ โดยประเมินให้ใกล้ความเป็นจริงมากที่สุด…..บ้านผมอยู่ไม่ห่างจากที่ทำงานซึ่งอยู่ใน มช.มากนักคือประมาณ 3 กม. ซึ่งไม่ไกลเกินกว่าที่จะใช้จักรยาน เมื่อรวมระยะทางไป-กลับก็เท่ากับ 6.0 กม. ในการทำงานแต่ละวันด้วยภาระหน้าที่ผมต้องมีการเดินทางติดต่อประสานงานราชการ หรือไปไปรษณีย์ ธนาคาร และทานข้าวกลางวันบ้างภายในบริเวณมหาวิทยาลัย ซึ่งสถานที่เหล่านี้นอยู่ห่างจากที่ทำงานประมาณ 1.8 กม. (3.6 กม.ไป-กลับ) บางโอกาสและเกิดขึ้นบ่อยมากที่ต้องเดินทางเช่นนี้มากกว่า 2-3 ครั้งต่อวัน แต่ในการประเมินจะใช้การเดินทางเพียงครั้งเดียว (การติดต่องานใน มช. ถ้าใช้รถยนต์ส่วนตัวจะมีปัญหาเรื่องที่จอดรถไม่น้อย แต่การใช้จักรยานจะสะดวกมาก) ดังนั้นเมื่อรวมระยะทางปั่นในแต่ละวันจะได้เท่ากับ 9.6 กม. (6.0 + 3.6 กม.) หรือเท่ากับ 48.0 กม. (5 วัน  9.6 กม.) ต่อสัปดาห์ (อาจจะมีคำถามว่าในระหว่างฤดูฝนจะปั่นได้ทุกวันหรือไม่ จากประสบการณ์ที่ผ่านมากล่าวได้ว่าไม่มี   ปัญาหาเรื่องฝนตกก่อนออกไปทำงานหรือเลิกงาน อาจจะมีบ้าง 1-2 ครั้งต่อเดือน) เนื่องจากผมเล่นกีฬาเทนนิสตอนเย็นเป็นประจำ วันเว้นวัน หรือประมาณ 4 วัน/สัปดาห์ โดยใช้จักรยานปั่นไปสนามเช่นกันหลังจากเลิกงานและกลับไปบ้านเพื่อเตรียมตัว สนามก็อยู่ภายใน มช. ซึ่งอยู่ห่างจากบ้าน 4 กม. เมื่อรวมระยะทางเฉพาะปั่นไปเล่นเทนนิสได้เท่ากับ 32.กม./สัปดาห์ (8.0 กม.  4 วัน ) นอกจากเทนนิสแล้วผมยังว่ายน้ำที่สระใน มช.อีกสัปดาห์ละครั้งเป็นระยะทางไป-กลับ 8.0 กม. ดังนั้นรวมระยะทางทั้งหมดที่ผมปั่นจักรยานได้ 88.0 กม/สัปดาห์ (48.0 + 32.04 + 8.0 กม.) หรือเท่ากับ 352.0 กม. ต่อเดือน (ไม่รวมการใช้จักรยานปั่นเข้าเมือง ชอบปิ้ง และจ่ายตลาดเป็นครั้งคราว) จากระยะทางนี้ถ้าผมใช้รถยนต์ส่วนตัวคงต้องจ่ายเงินเป็นค่า เฉพาะน้ำมันเบนซิน จะได้ประมาณ 700 บาท (ต่อเดือน) โดยคิดจากฐานที่รถของผม (เปอร์โยต์ 504 อายุ 27 ปี แต่สภาพดี) กินน้ำมันเฉลี่ย 8.0 กม./ลิตร (วิ่งระยะสั้นหรือในเมือง) และราคาน้ำมันลิตรละ 16.0 บาท นั่นหมายความว่าผมประหยัดเงินได้ไม่น้อยกว่า 700 บาท ต่อเดือน
..........เรื่องการประหยัดอาจไม่ใช่เป็นเรื่องหลักสำคัญถือว่าเป็นผลพลอยได้ แต่ การที่ได้มีส่วนร่วมหรือได้เป็นส่วนหนึ่งในการประหยัดพลังงาน อนุรักษ์ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ลดการจราจรแออัด ลดมลพิษ และยังได้ออกกำลังกายไปในตัว นั่นเป็นที่สิ่งสำคัญ …สำหรับผู้ที่มีบ้านอยู่ไกลรือต้องเดินทางไกลย่อมไม่สะดวกที่จะใช้จักรยานแน่นอนทั้ง ๆ ที่อยากจะใช้ก็ตาม ประกอบกับยังไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่ดีก็จำเป็นต้องใช้ยานยนต์ (รถยนต์ หรือจักรยานยนต์) ส่วนตัวเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ การร่วมกันช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว (จราจรแออัดสร้างมลพิษ) มีทางหลายทางเลือกแม้เพียงท่าน (ผู้ขับขี่ยานยนต์) เห็นใจ มีน้ำใจและคอยระวังผู้ปั่นจักรยานที่ใช้ทางร่วมกับท่านบ้างเท่านั้น นับว่าท่านก็ได้มีส่วนร่วมช่วยมากแล้ว.

 

LOGO GWF logo tcc logo rabn logo SSS