จักรยานเพื่อนร่วมทางบนท้องถนน

เฉลิมพล  แซมเพชร
                    ลงข่าวสารฉบับที่ 5 ปีที่ 6 เดือน พฤษภาคม 2547

..........ผลจากการที่มีจำนวนรถรถยนต์ส่วนบุคคลเพิ่มมากขึ้น ทำให้เชียงใหม่มีการจราจรแออัดผิดหูผิดตา  รถต้องติดไฟแดงนานขึ้น..และเผาผลาญน้ำมันเชื้อเพลิงแบบสูญเปล่า หรือสูญเสียเศรษฐกิจ (โดยการอุด หนุนของรัฐ)มากขึ้น ก่อให้เกิดมลพิษต่อสภาพแวดล้อม ต่อสุขภาวะของคนเชียงใหม่ และส่งผลกระทบในทางลบอื่น ๆ อีกมากมาย นับว่าเป็นปัญหาใหญ่อันหนึ่งที่เกิดขึ้นในเมืองเชียงใหม่ของเรา ปัญหานี้นับวันจะยิ่งรุนแรงขึ้นและยากที่จะแก้ไข ถ้าหากผู้บริหารบ้านเมืองทุกระดับไม่ใช้วิสัยทัศน์ที่มี..เร่งแก้ปัญหานี้
..........ในอดีตเมื่อ 30-40 ปีก่อน ปัญหานี้ได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในเมืองใหญ่ ในทวีปอเมริกาและยุโรป ในระยะแรก ๆ เขาก็แก้ปัญหาด้วยการขยายถนน..เพิ่มพื้นผิวจราจร สร้างทางข้ามหรือทางลอด ซึ่งต้องใช้งบประมาณมหาศาล แต่ช่วยแก้ปัญหาเฉพาะจุดได้ในระยะสั้นเท่านั้น และไม่กี่ปีรถก็ติดขัดเหมือนเดิมอีก ในที่สุดความสำเร็จของการแก้ปัญหา ของเขาจบลงที่มุ่งให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนมากที่สุด ด้วยการมีระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพในเมืองและเชื่อมโยงกับระบบขนส่งมวลชนนอกเขตเมืองเป็นอย่างดี พร้อมกันนั้นก็รณรงค์ส่งเสริมให้มีการเดินและใช้จักรยานร่วมด้วยสำหรับระยะทางที่ไม่ไกล โดยเฉพาะในเมือง หรือแม้กระทั่งเขตนอกเมือง จนกลายเป็นระบบที่เรียกว่า “Ride and Bike” (ขึ้นรถขนส่งมวลชนและขี่จักรยาน) ดังนั้นถนนในเมืองของเขาและกฎจราจรที่ใช้จึงถูกปรับให้เอื้ออำนวยสำหรับการเดินและการขี่จักรยาน ไม่ใช่เอื้ออำนวยให้แก่รถยนต์เท่านั้น  ผู้ที่ใช้ยานยนต์..ถึงแม้เขาเองไม่มีโอกาสหรือยังไม่สามารถที่จะเดินหรือขี่จักรยานได้ในขณะนั้น แต่เขาเห็นว่าการเดินและการใช้จักรยานเป็นส่วนสำคัญยิ่งที่ช่วยแก้ ปัญหาได้อย่างดีและถือว่าเป็นผู้ที่เสียสละด้วย ดังนั้นเขาจึงเอื้ออารีย์ มีน้ำใจและให้ทางแก่ผู้ที่เดินหรือขี่จักรยานก่อนเสมอ(ขณะนี้ผมเองก็ได้พบเห็นว่าผู้ขับขี่รถยนต์มีน้ำใจให้กับคนเดินเท้าและขี่จักรยานในเมืองเชียงใหม่ของเรามากขึ้น..นับว่ามีสัญญาณบ่งบอกในทางดีเพิ่มขึ้น)
..........การแก้ปัญหาในเรื่องนี้ ผมอยากขอให้เรากระโดดข้ามขั้นโดยอาศัยประสบการณ์การแก้ปัญหาของเขาทั้งกระบวน..มาประยุกต์ใช้กันบ้าง เพราะเห็นว่ามีการไปดูงานในต่างประเทศในเรื่องนี้โดยตรงและโดยอ้อมอยู่เสมอ..มิใช่หรือ?
จักรยานเป็นยานพาหนะชนิดหนึ่งซึ่งมีสิทธิ์ที่จะปั่นหรือขี่บนท้องถนนได้เช่นเดียวกันกับการขับขี่ยานยนต์อื่น ๆ ถ้าหากปฏิบัติตามกฏจราจร  ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการใช้ถนน จึงอยากให้เมืองเชียงใหม่มีวิสัยทัศน์ที่มองไกลว่า..รถจักรยานนั้นไม่ได้กีดขวางการจราจร(ยังมีผู้รับผิดชอบการจราจรบางคนคิดว่าจักรยานกีดขวางการ จราจร..หลงเหลืออยู่)
..........ลองจินตนาการดูว่าอะไรจะเกิดขึ้นถ้าผู้คนที่ใช้จักรยานบนท้องถนนในเมืองจีนเหล่านั้นหันมาใช้ยานยนต์กันทั้งหมด…น่าเสียดายที่เมืองเชียงใหม่ของเรายังไม่ให้ความสำคัญของเรื่องการเดิน การใช้จักรยาน และระบบขนส่งมวลชนที่เป็นแต่เพียงแค่นามธรรม(มานานหลายปีแล้ว)เท่านั้นเมื่อเป็นเช่นนี้แต่ละคนก็ต้องขวน ขวายช่วยตัวเองด้วยการใช้รถส่วนตัวกันเรื่อยไป
..........อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าบ้านเมืองของเรายังไม่ให้ความสำคัญของการใช้จักรยาน..เพื่อเป็นส่วนร่วมและเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาการจราจรดังกล่าวที่เป็นรูปธรรม แต่เราก็ยังพอจะใช้จักร ยานในเขตเมืองของเราทำกิจวัตรประจำวันได้ ขอให้ปฏิบัติตามกฎจราจร และอดทนเอาหน่อย ตรงไหนเลี้ยว ข้ามถนน หรือเปลี่ยนเลนลำบากและเกรงว่าจะมีอันตราย ก็ให้ใช้วิธีเดินจูงเอาหน่อยเหมือนการเดินที่ถือของชนิดหนึ่งติดตัวไป ดังเช่นที่นิติธรรม ล้านนาได้เคยกล่าวไว้ เรามาใช้จักรยานเพื่อใช้ทำกิจวัตรประจำวันในระยะใกล้กันให้มากขึ้นเถอะ!!
..........เราหวังว่าเร็วๆนี้ผู้บริหารบ้านเมืองคงจะเห็นความสำคัญของจักรยานว่า  เป็นส่วนช่วยแก้ปัญหาการจราจรที่ติดขัดและลดมลพิษได้ เพราะว่าจักรยานนั้นเป็นยานพาหนะที่เป็นมิตรกับธรรมชาติและสิ่ง แวดล้อมที่ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมที่ใครๆรู้กันดี.

 

LOGO GWF logo tcc logo rabn logo SSS