มร.ไบค์แมน
ลงข่าวสารฉบับที่ 19 ปีที่ 3 เดือน มีนาคม 2549
........เมืองเชียงใหม่ ถ้าดำเนินงานกันไม่ช้าเกินไปโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าซีอีโอ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ และ นายก..อบจ.เชียงใหม่ ก็อาจจะเป็นเมืองแบบอย่างของการส่งเสริมการใช้จักรยานแก่เมืองอื่นๆในภาคเหนือได้เร็ว อย่างไรก็ตาม ได้ทราบจากบุคคลากรของ สสจ.แพร่ ในการประชุมเตรียมมหกรรมคนสร้างสุข ๒๕๔๙ ณ เมืองพิษณุโลกเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า ในเมืองแพร่นั้น..ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอยากให้มีเส้นทางจักรยานสำหรับการเดินทางในชีวิตประจำวันและการท่องเที่ยวหลายสาย ซึ่งนับว่าโชคดีสำหรับคนเมืองแพร่..เพราะท่านนายกเทศมนตรีเมืองแพร่เองก็เป็นประธานชมรมจักรยานเมืองแพร่มาตั้งแต่ก่อนเป็นนายกเทศมนตรีแล้ว โดยเฉพาะในจังหวัดแพร่นั้น ท่านผู้ว่าฯ นายก อบจ. และนายกเทศมนตรีมักจะร่วมมือกันและเข้ากันได้ดี
........สำหรับเมืองเชียงใหม่นั้น มีคณะทำงานเพื่อการเดินทางแบบไร้เครื่องยนต์ตั้งขึ้นโดยเทศบาลนครเชียงใหม่ และได้กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่าจะทำให้ในพื้นที่สี่เหลี่ยมคูเวียงเป็นเขตปลอดยานยนต์(ในอนาคต) ซึ่งมีการพูดคุยกันในประชาคมเมืองเชียงใหม่มาหลายปีแล้ว เพื่อลดฝุ่นละอองและควันไอเสียจากยานพาหนะ ลดการใช้พลังงานและส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อม โดยมียุทธศาศตร์สำคัญคือ ปรับปรุงทางเท้าหรือขยายทางเท้าให้น่าเดิน ตบแต่งให้สวยงามและปลูกต้นไม้ให้เดินเท้าได้ร่มรื่น มีที่พักผ่อนสำหรับคนเดินเท้าเพิ่มขึ้น รวมทั้งขยายพื้นที่ถนนคนเดินให้เพิ่มขึ้น และส่งเสริมการใช้จักรยานในเขตคูเวียง ด้วยการมีทางจักรยานและมีจักรยานยืมฟรี รวมทั้งส่งเสริมสามล้อ(แท็กซี่)บริการนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการยกระดับอาชีพของผู้ให้บริการสามล้อถีบเป็นอาชีพที่ดีในเขตคูเวียง
........อย่างไรก็ตามการให้พื้นที่สี่เหลี่ยมคูเวียงเป็นเขตปลอดยานยนต์นั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากคนเชียงใหม่ผู้ใช้รถยนต์อย่างสูงยิ่งซึ่งยากมาก มาตรการที่จะช่วยสนับสนุนการปลอดรถยนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพก็คือ การเข้มงวดการจอดรถยนต์ในผิวถนนหรือให้จอดโดยเสียค่าจอดแพงจนไม่จำเป็นจริงๆก็ไม่อยากจอด จำกัดความเร็วของรถเครื่องยนต์ไม่ให้เกิน ๔๐ กม./ชม. หรือไม่เกิน ๓๐ กม./ชม.ในถนนบางสาย รวมทั้งประกาศและบังคับให้บางพื้นที่ในเขตสี่เหลี่ยมคูเวียงเป็นเขตปลอดภัยอย่างยิ่งยวดสำหรับผู้ใช้จักรยานและคนเดินเท้า แนวคิดนี้น่าจะเป็นสิ่งจูงใจคนปั่นรถถีบมาก เทศบาลฯอาจจะได้รับการร่วมมือจากองค์กรต่างประเทศ เช่น GTZ-เยอรมันนีมาร่วมสนับสนุนทางวิชาการและการลงทุนคนละครึ่ง ที่สำคัญเทศบาลนครเชียงใหม่ต้องแสดงให้เห็นว่ามีความมุ่งมั่นจริง จากการดำเนินงานอื่นๆข้างเคียงเช่นขับเคลื่อนการทำทางจักรยานที่ตั้งใจจะลงมือตามที่ อจร.จ.เชียงใหม่ให้ความเห็นชอบไปแล้วให้เกิดผลเป็นรูปธรรม.