โดย.... วีรพันธ์
........นับตั้งแต่ปี 2544-2545 มีการรณรงค์ให้คนไทยออกกำลังกายกันหลายรูปแบบ ตามความเหมาะสมของแต่ละเพศ,วัยหรือความสามารถเฉพาะตัว ของแต่ละคนที่จะนำไปปฏิบัติ และมีคำขวัญ คติพจน์ต่างๆเช่น กีฬาๆเป็นยาวิเศษ สุขภาพดีไม่มีขาย อยากได้ต้องออกกำลังกาย หรือ จงออกกำลังเดี๋ยวไม่มีกำลังจะออก และ รูปแบบการออกกำลังกายก็มีเช่น เดิน วิ่ง ว่ายน้ำ ระมวยจีน รำไม้พลอง รำแม่ไม้มวยไทย แอโรบิคแด๊นซ์ ถีบจักรยาน และอื่นๆ.. เริ่มต้นจากหน่วยงาน วงการแคบๆ ก็ขยายกว้างไกล จากในเมืองสู่หมู่บ้านตำบลชนบทห่างไกล ด้วยการเห็นคุณค่าของการออกกำลังกาย และมีองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ให้การสนับสนุนด้านการเงินที่ได้จากภาษีเหล้า-บุหรี่ หรือเรียก ภาษีบาป ปีละเกือบ 1-2 พันล้านบาท จึงมีองค์กร ชมรมต่างๆจัดทำโครงการเสนอขอเงินมาใช้จ่ายการออกกำลังกายได้ด้วย
........การออกกำลังกาย เพื่อสุขภาพหลายรูปแบบดังกล่าว มักจะมีผลกระทบต่อผู้ออกกำลังกาย เช่น ข้อต่อกระดูกต่างๆ ซึ่งได้รับการกดกระแทกมากๆบ่อยๆ มักทำให้เกิดการท้อ ห่างเหินหรือหยุดการออกกำลังกายไปเลยก็มี แต่ยังมีวิธีอื่นที่หลีกเลี่ยงการกดกระแทกข้อต่อหรือกระดูกได้ คือ การปั่นรถจักรยานหรือรถถีบ เพราะจักรยานมีให้เลือกหลายแบบ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ สามารถปรับส่วนต่างๆของจักรยาน ให้เหมาะกับรูปร่างน้ำหนักส่วนสูงของผู้ขี่ และถอดส่วนประกอบสะดวกในการขนย้ายได้ด้วย และยังมีแบบถีบไปทำงาน ไปตลาด ที่เรียกว่าจักรยานแม่บ้าน จักรยานโบราณ หรือจะเลือกจักรยานที่ใช้ในด้านกีฬาโดยเฉพาะ เช่นจักรยานเสือหมอบเพื่อปั่นทางเรียบหรือจักรยานเสือภูเขาใช้ปั่นทางขรุขระเข้าป่าขึ้นเขาผจ ญภัย มีทั้งแบบเดินทางไกลถอดพับใส่ถุงได้ด้วย ราคาก็แตกต่างกันไปตั้งแต่พันกว่าบาท 7-8 พันบาท หมื่นบาทขึ้นไปถึงหลักแสนก็มี เนื่องจากทำด้วยวัสดุหายากน้ำหนักเบาราคาจึงแพง นักปั่นเสือหมอบเสือภูเขาต้องทำใจเกี่ยวกับอะไหล่ส่วนประกอบต่างๆราคาค่อนข้างแพงมากๆ เพราะจักรยานใช้งานหนักปั่นบ่อยและไกล ใช้ของถูกก็ใช้ได้ไม่นาน มีปัญหาปั่นไกลหาซื้ออะไหล่ไม่ง่ายนัก แต่นักปั่นมือใหม่ปั่นเพียงเพื่อออกกำลังกายระยะทางใกล้ๆแถวบ้านเราไม่จำเป็นต้องไปสนใจซื้อหาราคาแพงตามผู้ปั่นไกลๆปั่นบ่อยอย่างนักนักปั่นอาชีพหรือคนมีสตางค์เหลือใช้
........นักปั่นสมัครเล่นหรือเพื่อสุขภาพ ไม่จำเป็นต้องใช้จักรยานราคาแพง เพราะปั่นเพียงวันละ 1-2 ชั่วโมงระยะทาง 20, 30 กม. ด้วยความเร็ว 20-25 กม./ชม. ปั่นช่วงเช้าหรือเย็นต่อเนื่องกันก็เพียงพอแล้ว หรือเป็นไปได้ วันเว้นวันสม่ำเสมอสัก 2-3 เดือน ก็จะแข็งแกร่งแรงดีไม่เหน็ดเหนื่อย ระบบกล้ามเนื้อ ข้อต่อ และการหายใจก็จะดี สามารถปั่นท่องเที่ยวไปไกลๆพบกับเพื่อนฝูงต่างเพศต่างวัยหลากหลายอาชีพ ทั้งคนไทยคนต่างประเทศ เช่น ร่วมปั่นทางไกลเทิดพระเกียรติวันพ่อวันแม่เชียงใหม่กรุงเทพ เป็นประจำทุกปีหรือร่วมปั่น 3-4 แผ่นดิน ไทย-จีน-ลาว-เขมร-เวียดนาม ฯลฯแต่ก็มีนักปั่นจำนวนไม่น้อย ซื้อจักรยานราคาแพงปั่นได้ไม่กี่กิโล ไม่นานก็ทอดทิ้งไม่ใช้ไม่ปั่น เฉลี่ยราคาจักรยานต่อระยะทางที่ปั่นได้ ค่อนข้างแพงมากๆน่าเสียดายไม่คุ้มค่าจริงๆ
นักปั่นจักรยานบ้านเรามี 2 ประเภท คือ
........1.ประเภทเสือหมอบ มักเป็นคนหนุ่มอายุน้อย เป็นนักเรียนนักศึกษานักกีฬาระดับ จังหวัด ระดับเขต ระดับชาติ ฝึกฝนกันมาตั้งแต่เด็กๆ ไม่เหมาะสำหรับผู้มีอายุมาก หมอบปั่นแบบเด็กๆเดี๋ยวเดียวก็เวียนหัว
........2.ประเภทเสือภูเขา
................2..1 เพื่อการแข่งขัน ประเภทนี้ก็เหมาะสำหรับคนหนุ่ม เป็นที่นิยมในปัจจุบัน แต่ค่อนข้างจะอันตราย เช่นการแข่งขันเสือภูเขา และดาวน์ฮิลล์ ผาดโผนท้าทาย นักปั่นสมัครเล่นหรือผู้สูงอายุไม่ควรทำ เพราะมีผู้บาดเจ็บกระดูกหักมามากแล้ว
................ 2.2 เพื่อสุขภาพ ประเภทเสือภูเขาทางเรียบ เหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย เลือกซื้อเลือกใช้ตามความต้องการ ความเหมาะสมของแต่ละคน และไม่จำเป็นต้องราคาแพง
........3.ประเภทเสือภูเขาทางไกล จักรยานเสือภูเขาทางไกล ที่เห็นอยู่ในบ้านเราทุกวันนี้ส่วนใหญ่ จะเป็นนักปั่นอายุมากแล้ว มีรายได้มีอาชีพการงานที่ไม่ผูกมัด ทำงานอิสระค้าขายธุรกิจส่วนตัว บำเน็จบำนาญ ฐานะเศรษฐกิจพอสมควร ไม่มีปัญหาสุขภาพ สามารถเดินทางไกลหลายวันได้ ส่วนมากจะฝึกปั่นเพื่อสุขภาพติดต่อกันมานานสม่ำเสมอหลายปี จึงแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ อยู่ง่ายกินง่ายนอนง่าย ปรับตัวเข้ากับเพื่อนร่วมทางได้ง่าย มีน้ำใจเอื้ออาทร ไม่เครียดสนุกสนานจึงดูอ่อนกว่าวัย ร่วมปั่นผ่านบ้านชมเมืองดูวิถีชีวิตของแต่ละแห่งตามเส้นทางที่ผ่าน บ้างมีบันทึกภาพบันทึกวีดีโอ ระหว่างเดินทาง 2 คืน 3 วันบ้าง 5 คืน 6 วันบ้าง 7 คืน 8 วัน หรือมากกว่าก็เคยมี บางครั้งมีออกรายการโทรทัศน์กบนอกกะลาบ้าง และลงข่าวหนังสือพิมพ์ด้วย
........นักปั่นมือใหม่หากใฝ่ฝันจะปั่นทางไกลบ้าง ย่อมทำได้ถ้ามีความมุ่งมั่นฝึกหัดปั่นตามเส้นทางรอบถนนวงแหวนเมืองเชียงใหม่ มีให้เลือกถึงสามวงซึ่งจะขอแนะนำในลำดับต่อไป โดยทั่วๆไปนักปั่นเพื่อสุขภาพของชมรมต่างๆในบ้านเรา ปั่นกันหลายรูปแบบจัดตั้งชมรมกันขึ้นมาก็มากมาย จัดตั้งกันวันนี้ตกลงกันวันนี้ มีทั้งชมรมน้องใหม่ น้องเก่า พี่ใหญ่ บ้านใต้ บ้านกลาง น่องเหล็ก น่องทอง สีแสดสีส้ม และวันดีคืนดีพี่ไม่ได้เป็นประธาน งานเงินไม่ก้าวหน้า อุตส่าห๋สนับสนุนการใช้จ่าย กันท่าชมรมอื่นจะมาขอ พอนัดหมายแล้วทำไมไม่มา ว่าแล้วก็แตกวง ไปทีละชมรมทีละชมรม ตลอดเส้นทางจากเชียงใหม่ถึงกรุงเทพ กลุ่มนักปั่นเฒ่าแต๊ปั่นกันมาหลายปี ทุกที่ทุกจังหวัดในเส้นทางที่ผ่าน ต่างก็ตอบเหมือนๆกันว่า “ ที่นี่ก็มีชมรม ที่นั่นก็มีชมรม ใหม่ๆก็รวมตัวกันได้ดีมีหลักการ มีประธานกรรมการ มีเงินสนับสนุนจากคนนั้นคนนี้ จากพวกนั้นพรรคนี้ มีเสื้อมีผ้ามาแจก แต่..เดี๋ยวนี้ ไม่ค่อยรวมกันแล้วล่ะ ไม่ค่อยมีเหมือนก่อนแล้วล่ะ ไม่มีแล้วล่ะ ไม่ตอบสนองเขาดังหวังเขาก็ไม่สนับสนุนแล้วล่ะ.มันยังไงก็ไม่รู้ “ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ มีข้อมูลที่ สสส.เคยบอกไว้เหมือนกันว่า ชมรมต่างๆมักมีความขัดแย้ง
........จะด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ ปัจจุบันนักปั่นที่กล้าแกร่งที่เห็นอยู่แนวหน้า หรือที่เคยเห็นแข่งขันได้รับรางวัลกันอยู่นั้น มีน้อยกว่านักปั่นที่อยู่ตามหลัง และที่ยังไม่ได้เข้าแข่งขัน รวมทั้งที่ยังไม่ได้ออกมาปั่นอีกจำนวนมาก จึงขอเชิญชวนนักปั่นที่กล้าแกร่งและที่มีประสบการณ์อยู่แล้ว มาช่วยกันสนับสนุนสร้างแรงจูงใจ ให้ผู้ที่ยังไม่ได้ปั่นให้ออกมาปั่นมากๆทุกเพศทุกวัย ที่ปั่นอยู่แล้วก็ให้ปั่นต่อไปอย่าได้ว่างเว้นนานเกินไป ไม่เช่นนั้นก็เหมือนมาตั้งต้นใหม่ มันเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ เสียสละไม่มีผลประโยชน์ตอบแทน ไม่รับของไม่รับเงื่อนไขหรือรับใช้ใครเป็นการส่วนตัว แต่สุขใจเมื่อเห็นญาติพี่น้องเพื่อนฝูง เพื่อนร่วมชาติมาออกกำลังกาย มีสุขภาพกายสุขภาพจิตดี
ข้อแนะนำนักปั่นใหม่
........1.ต้องมีจิตใจที่ยอมรับและเห็นคุณค่าของการออกกำลังกาย ทำเพื่อตัวเองเท่านั้น ทำแทนกันไม่ได้
........2.ควรกำหนดเวลาหรือตารางเวลา และยืดหยุ่นได้ตามความจำเป็น ไม่ควรอ้างว่าไม่มีเวลาบ่อยนัก
........3.ซื้อหาจักรยานที่พอใช้ได้ ไม่จำเป็นต้องราคาแพง เว้นแต่ชอบซื้อของแพง
........4.ชุดเสื้อผ้า-เครื่องใช้ไม่จำเป็นซื้อของนอก ของไทยราคาถูกก็ใช้ได้ดี
........5.สอบถามผู้รู้กรณีใช้จักรยานมีเกียร์ แล้วค่อยเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ตรง
........6.ระมัดระวังการปั่นร่วมกับผู้มีประสบการณ์ ประเภทขาแข็งชอบอวดความเก่ง หลงตัวเองเหมือน นักปั่น ตูเดอฟองซ์ ขาดน้ำใจเอื้ออาทร จะถูกทิ้งห่างทำให้วิตกกังวลและท้อถอย หรือระวังร่วม ปั่นกับกลุ่มสิงห์ขี้คุย, เจ้าชู้, นินทาชาวบ้าน จะทำให้เครียดหงุดหงิดไม่สนุกไม่อยากปั่น
........7.เริ่มแรกควรฝึกปั่นระยะใกล้ๆ 10-15-25 กม ความเร็ว 20-25 กม./ชม. เวลาเช้าหรือเย็น วันหยุด เสาร์อาทิตย์ไม่รีบร้อนไปไหน ควรฝึกปั่นช่วงแดดร้อนบ้างเพื่อความคุ้นเคย เผื่อมีโอกาสร่วมปั่นทางไกล ไม่สนับสนุนปั่นเช้ามืดเกินไปอันตราย
........เส้นทางที่น่าจะสะดวกปลอดภัย ไม่ต้องขึ้นเขาเข้าป่า มีหลากหลายบรรยากาศ สามารถปรับเปลี่ยนเกียร์ได้บ่อยๆ เหมือนฝึกขึ้นเนินขึ้นเขา มีปัญหาใดๆก็สามารถโทร.เรียกคนช่วยได้ง่าย
1.เส้นทางถนนวงแหวนรอบนอก เมืองเชียงใหม่ ระยะทาง 60 กม.
........เหมาะสำหรับนักปั่นทั้งเก่าและใหม่ ถนนโล่งกว้าง รถรามากเกินไป ทางต่างระดับไม่มาก อุโมงค์ลอดไม่มีเหมือนวงแหวนรอบกลาง-รอบใน ไหล่ถนนกว้างพอที่จะปั่นด้วยความเร็ว 20-25และ 30 กม./ชมได้ ปั่นช่วงเช้าสัก 1 รอบ 60 กม. พักเหนื่อย พอบ่ายอีกสักรอบ 60 กม.เพื่อคุ้นเคยกับแสงแดดและลมแรงและรถรา เผื่อปั่นทางไกลเขาได้ ควรมีเพื่อนร่วมปั่นด้วยสักคนก็จะดี
........เส้นทางวงแหวนรอบนอกสายนี้ จะเริ่มสตาร์ทที่ใดก็ได้ตามสะดวก ในที่นี้ขอยกตัวอย่างจุดเริ่มต้นที่สี่แยกไฟแดงสันทรายน้อยแม่ย่อย ผ่านแยกไฟแดงแม่กวง-ดอยสะเก็ด ผ่านท่ารั้ว ถึงแยกไฟแดงหลุยส์เครื่องเงินได้ 8 กม.**ข้อแนะนำทางแยกไฟแดง เนื่องจากจักรยานเวลาออกตัว จะพุ่งด้วยความเร็วเหมือนจักรยานยนต์ไม่ได้ จึงควรชะลอความเร็วก่อนถึงทางแยก เพื่อให้เป็นไฟแดง จะได้หยุดรอให้เป็นไฟเขียว แล้วปั่นต่อไปจะได้ปลอดภัย ไม่ควรรีบเร่งเสี่ยงอันตราย เว้นแต่ผู้มีประสบการณ์ขาแข็งอาจทำได้.. ผ่านแยกไชยสถาน ถึงแยกซูปเปอร์ไฮเวย์ได้ 14. กม.เศษตรงนี้นักปั่นต้องลงจูงจักรยาน มองซ้ายมองขวา เห็นว่าถนนโล่งปลอดภัยดี จึงจูงเลี้ยว ยูเทิร์นนิดหน่อยไปฝั่งตรงข้าม ขึ้นทางต่างระดับข้ามทางรถไฟ สามารถฝึกเปลี่ยนเกียร์หนักเป็นเบาขาขึ้น และเปลี่ยนเกียร์เบาเป็นหนักขาลง ผ่านไฟแดงถนนต้นยาง ถึงสะพานสูงข้ามน้ำปิงได้ 21 กม. พักเหนื่อยนิดหน่อย ปั่นต่อผ่านแยกหางดง ผ่านแยกสะเมิง-หนองควายเลี้ยวขวา ไปตามถนนเลียบคันคลองชลประทาน ผ่านปากทางไนท์ซาฟารี ผ่านตลาดต้นพยอมพักอีกหน่อย ระยะทางมาได้ร่วม 40 กม. หายเหนื่อยปั่นต่อผ่านภูคำ- ผ่านห้วยตึงเฒ่า เลี้ยวขวาผ่านแยกกองพันสัตว์ต่าง - ขึ้นสะพานสูงข้ามน้ำปิงที่ตลาดดงป่าข่อย ผ่านแยก อบต.หนองจ๊อม ต่อไป ถึงจุดเริ่มต้นสันทรายน้อยรวมระยะทาง 60 กม. ฝึกปั่นวันละสัก 2 รอบติดต่อกันสัก 5 วัน ก็สามารถปั่นเชียงใหม่-กรุงเทพได้อย่างแน่นอน
2. เส้นทางถนนวงแหวนรอบกลาง เชียงใหม่ ระยะทาง 41.5 กม.
........เส้นทางที่เหมาะสำหรับนักปั่นใหม่ ปั่นได้ทั้งช่วงเช้า-สาย-บ่าย-เย็น เพราะปั่นไปสักครึ่งทางพักเหนื่อย แล้วปั่นต่อกลับเข้าบ้านได้ เว้นแต่ผู้ต้องการฟิตซ้อมทดสอบความอดทน ก็สามารถทำได้วันละ 2-3 รอบ รวม 120 กม./วัน ก็นับว่าอยู่ในเกณฑ์เยี่ยม เส้นทางนี้สภาพถนนดี เป็นทางคู่ขนานไหล่ถนนกว้างปั่นแอบซ้ายตลอดก็ปลอดภัยดี ความเร็ว 25 กม./ชม. ใช้เวลาสัก 2 ชั่วโมงก็ครบรอบ
........เส้นทางนี้จะมีบรรยากาศที่หลากหลายตลอดเส้นทางจะเริ่มต้นที่ใดก็ได้ตามสะดวก ในที่นี้ขอเริ่มต้นที่อุโมงค์ลอดใกล้ตลาดสามแยกสันทราย ปั่นตรงไปลอดอุโมงค์ที่ตลาดรวมโชค 2 กม. ปั่นต่อไปอีก 7.5 กม. ขึ้นสะพานสูงข้ามน้ำปิงได้ฝึกเปลี่ยนเกียร์ขาขึ้นและขาลง ตรงไปลอดอุโมงค์ครั้งที่ 3 ที่หน้าเรือนจำหรือศูนย์ราชการ แต่ละอุโมงค์จะมีสีสรรสวยงามแตกต่างกันไป ถึงแยกสนามกีฬา 700 ปี เลี้ยวซ้ายถนนเลียบคลองชลประทาน ผ่านแยกภูคำ ได้ระยะทาง14 กม. ผ่านตลาดต้นพยอม ถึงแยกจะไปดอยคำให้เลี้ยวซ้าย ลอดอุโมงค์ที่ 4 แยกหางดง จะพักเหนื่อยสักหน่อยกีดี เพราะเลยครึ่งทางแล้ว ปั่นต่อไปผ่าน อบต.แม่เหียะ ขึ้นสะพานสูงข้ามน้ำปิงได้ฝึกเปลี่ยนเกียร์อีกครั้ง ลงสะพานผ่านเวียงกาม - ลอดอุโมงค์ที่ถนนต้นยาง - ขึ้นทางต่างระดับข้ามทางรถไฟฝึกเปลี่ยนเกียร์อีก จากนั้นต้องใช้ความระมัดระวังขึ้นทางต่างระดับสูง และมีหลายช่องทางเพื่อข้ามถนนซูปเปอร์ไฮเวย์ ก็ได้เปลี่ยนเกียร์กันอีก เป็นสิ่งที่ดีจะได้ชำนาญการใช้เกียร์ ขาขึ้นที่สูงใช้เกียร์ไม่เป็นก็จะเสียหลัก ต้องลงจูงเป็นเสือภูเข็นไปเลย ขาลงใช้เกียร์ไม่ถูกทำให้เสียหลักและล้มได้รับบาดเจ็บก็มีเหมือนกัน กรณีถนนมีหลายช่องทาง ก่อนจะเปลี่ยนเลนส์ไปทางซ้ายหรือขวาไม่ควรรีบร้อน มองให้ปลอดภัย-โบกมือด้วยก็จะดีเผื่อมีรถข้างหน้า หรือตามหลังมา.ปั่นลงทางต่างระดับตรงไปลอดอุโมงค์ ที่แยกหลัง บิคซี และลอดอุโมงค์ที่บวกครก จากนั้นผ่าน ม.พายัพ แล้วก็ถึงจุดเริ่มต้น สิ้นสุดการปั่น 1 รอบ 41.5 กม. ประมาณ 2 ชั่วโมงเศษ ฝึกปั่นวันละ 3 รอบก็จะดีไม่น้อยเลยนะ
3. เส้นทางถนนวงแหวนรอบใน เมืองเชียงใหม่ ระยะทาง 25 กม.
........เป็นเส้นทางระยะสั้นแต่ปั่นอาจใช้เวลานานเพราะการจราจรหนาแน่น ปั่นเร็วไม่ได้ ความเฉลี่ยประมาณ 20 กม.หรือแทบไม่ถึงด้วยซ้ำ นักปั่นมือเก่าพอไหวแต่มือใหม่ควรมีพี่เลี้ยง จะได้ช่วยโบกซ้ายโบกขวาให้ ปั่นเรียงเดี่ยวดีที่สุด จริงๆแล้วทุกเส้นทางไม่ควรปั่นคู่โดยไม่จำเป็นและกรณีปั่นคู่ในบางครั้งเมื่อถนนว่าง หรือเมื่อแซงขวาขึ้นไป ควรรีบแอบเข้าเลนส์ซ้าย เพราะอาจมีรถใหญ่ตามหลัง นักปั่นหลายท่านเคยขับรถยนต์ตามหลังจักรยานมาบ้างแล้ว ย่อมเข้าใจดี ที่ต้องกังวลใจว่า เขาจะไปทางไหน กันแน่ เข้าก็ไม่เข้าออกก็ไม่ออก เดี๋ยวจะเฉมาหาเราหรือเปล่า อย่างนี้เป็นต้น นี่แหละ อาจจะเป็นที่มาของคำว่า “ เกะกะ บนถนน “ อย่าให้เขาได้ว่าเราเลยนะ..แต่นักปั่นทุกคนก็หวังเช่นเดียวกันว่า “ โปรดมีน้ำใจ ให้จักรยานได้ใช้ร่วมทาง"
........เส้นทางสายนี้จะเริ่มต้น ณ ที่ใดก็ได้ตามสะดวก ในที่นี้ขอยกตัวอย่างเริ่มที่สี่แยกอุโมงค์ลอดศาลเด็ก ตรงไปผ่านแยกแม่โจ้-พร้าว ข้ามสะพานน้ำปิง ผ่านโลตัสคำเที่ยง ผ่าน-ลอดอุโมงค์ข่วงสิงห์ 4.5 กม.ผ่านแยกวัดเจ็ดยอด ถึงแยกรินคำเลี้ยวซ้าย ตรงไป ผ่านกาดสวนแก้วและแจ่งหัวริน 8 กม.ตรงนี้เลี้ยวขวาทันทีไม่ได้เป็นทางวันเวย์ ต้องตรงไปยูเทิร์น เลี้ยวขา หน้าไอคอมพลาซ่า ปั่นเลียบคูเมืองด้านใน(ถนนอารักษ์) ผ่านประตูสวนดอก ถึงแจ่งกู่เฮืองไปยูเทิร์นเลี้ยวขวาผ่าน ร.พ.สวนปรุง แล้วเลี้ยวซ้าย ตรงไปหรือขึ้นทางต่างระดับที่แยกแอร์พอร์ท เพื่อฝึกเปลี่ยนเกียร์ขาขึ้นและขาลง ตรงไปผ่านสะพานข้ามน้ำปิงและกองกำกับฯภาค 5 ตรงไปหรือขึ้นทางต่างระดับที่แยกหนองหอย มาได้ 17 กม. ฝึกเปลี่ยนเกียร์อีก และขาลงตรงไปเตรียมเปลี่ยนเกียร์ ขึ้นทางต่างระดับข้ามทางรถไฟ ลงไปผ่าน ร.ร..กาวิละ ถึงแยกดอนจั่นเลี้ยวซ้าย ได 21 กม. ผ่านบิคซี แยกปอยหลวงหรือหนองประทีป ตรงไปหรือลอดอุโมงค์ ผ่านแมคคโคร - คาร์ฟูร์ และศาลเด็ก ครบรอบรวม 25 กม.
ผลที่คาดว่านักปั่นจะได้ประสบการณ์ จากการฝึกปั่นรอบถนนวงแหวน เมืองเชียงใหม่
........1.เมื่อปั่นอย่างต่อเนื่อง 1-2-3 เดือน นักปั่นจะได้สารเอนโดฟีน อยากปั่นต่อไปเรื่อยๆอย่างมีความสุข
........2.ระบบกล้ามเนื้อ ข้อ กระดูก จะแข็งแรง และการหายใจดีไม่เหนื่อยง่าย เว้นแต่มีโรคประจำตัว
........3.คุ้นเคยกับการจราจรที่หนาแน่น ไฟเขียวไฟแดง เสียงรถยนต์เสียงแตร ไม่สะดุ้งตกใจ
........4.คุ้นเคยกับปัญหาการใช้เกียร์ ใช้เบรค การ ใช้อะไหล่ต่างๆระหว่างการฝึกปั่น
........5.คุ้นเคยกับการนั่งปั่นนานๆ การเปลี่ยนท่านั่ง การใช้กางรองเป้าและไม่รองเป้า
........6.คุ้นเคยกับสายลมแสงแดดและสายฝน การใช้หมวก แว่นตา ผ้าคลุม ปลอกแขน ปลอกน่อง ถุงมือ และขวดน้ำ
........7.คุ้นเคยกับการบรรทุกสิ่งของ กระเป๋า เป้ เต้นท์ไว้ท้ายจักรยาน(ถึงปั่นใกล้ๆฝึกไว้บ้างก็น่าจะดี)
***********************************