ถนนที่มีทางรถถีบกับไม่มีทางรถถีบ(ตอนที่1)

ถนนที่มีทางรถถีบกับไม่มีทางรถถีบ..อย่างไหนปลอดภัยกว่ากัน ?(ตอนที่ 1)                                         …… สามปอย  ดอยคำ 

          ผมเคยได้เสนอถึงหลักและวิธีการขี่รถถีบสำหรับผู้อยากจะขี่เองให้มีความปลอดภัย..ตามสภาพถนนจริงของเมืองเชียงใหม่  โดยอาศัยประสบการณ์จริงกับกฎจราจรและสัญชาติญานในถนนต่างๆ โดยตัดความกลัวที่มีส่วนให้เสียสมาธิและเกิดอันตรายได้ง่ายจากการพะวักพะวนออกไป   ในขณะนี้ผู้ที่รักการขี่รถถีบอยู่แล้วไม่มีใครสนใจมากนัก ว่าถนนใดจะมีทางรถถีบทำไว้ให้หรือไม่มี  เพราะใจเราจะนำพาเราไปได้ทุกแห่งที่เราจำเป็นต้องไป..ถ้าเป็นจุดหมายของเรา   แต่ข้อเขียนเรื่องนี้อยากชวนพูดคุยกันถึงการขี่รถถีบโดยมีทางรถถีบเทียบกับการไม่มีทางรถถีบบ้างก็น่าจะดี  เพราะจะทำให้เห็นอีกมุมมองหนึ่งสำหรับคนที่สนใจอยากจะขี่รถถีบได้มีความเข้าใจจริงๆ สักที  ว่าเมื่อเทียบกับการไม่มีทางรถถีบแล้วอย่างไหนจะปลอดภัยกว่ากัน    คนที่รู้จักกันหลายคนปรารภว่า  เขายังไม่กล้าขี่หรือไม่กล้าปล่อยให้ลูกขี่รถถีบในถนนไปไหนมาไหน เพราะเกรงว่าจะไม่ปลอดภัยหรือกลัวว่าลูกจะถูกรถยนต์ชนเข้าสักวัน  ถ้ามีทางรถถีบแยกต่างหากจากถนนทั่วไปเหมือนเมืองนอกบางแห่งที่เคยเห็นมา ก็อาจจะกล้าหรือยอมให้ลูกถีบรถไปเหมือนกัน  บางคนก็ออกความเห็นว่าให้มีทางรถถีบแยกต่างหากจากถนนรถยนต์วิ่งเสียก่อน...ก็อาจจะสนใจหันมาถีบด้วย  บ้างก็บอกว่าขี่รถถีบแล้วมันร้อนหรือเย็นเกินไปในหน้าหนาวและ ๆๆๆอีกมากมาย  สรุปได้ว่าเขาเหล่านั้นถึงยังไง ๆ ก็คงไม่ขี่  

แต่ที่จะคุยกันต่อไปนี้เป็นการคุยกันกับผู้ที่สนใจอยากขี่รถถีบจริงๆ..แต่ยังมีความกลัวจากความไม่เข้าใจเสียมากกว่า คือกลัวว่าเขาจะชนเราอยู่ในใจเสมอ ท่านเชื่อไหมว่าถ้าเราไม่มีศัตรูคู่อาฆาตคอยดักทำร้ายกันแล้วรับรองได้ว่าไม่มีใครอยากชนเราที่อยู่ข้างหน้าเขาหรอกครับ  รถยนต์และรถเครื่องจะหลบเราซึ่งมีความกว้างน้อยเดียวได้ง่ายกว่าหลบรถยนต์ด้วยกันเสียอีก เท่าที่มีการศึกษากันมา..พบว่ากรณีที่เกิดชนกัน ระหว่างรถถีบกับรถยนต์หรือกับรถเครื่องมักเกิดขณะที่ 

  1.   เมื่อเราจะขี่เลี้ยวออกจากซอยสู่ถนนใหญ่โดยขาดความ  ระมัด ระวัง หรืออกมาก่อนแล้วดูรถด้านขวาทีหลัง
  2. เมื่อรถยนต์หรือรถเครื่องเร่งเลี้ยวแซงเฉียดหน้ารถถีบเพื่อเข้าซอยหรือเข้าคูเวียงเพราะเขาคิดว่าเขาเร็วพอ(ส่วนใหญ่มักแค่เสียวๆ เพราะยังสามารถมองเห็นกันได้ดี
  3. เมื่อเราขี่ชิงเลี้ยวขวาตัดหน้ารถที่มาตรงตามทางแยกที่ไม่มีไฟจราจรควบคุม 
  4. เมื่อเราขี่รถเลี้ยวขวาโดยไม่ให้สัญญานรถหลังล่วงหน้าเพียงพอ หรือ 
  5. มื่อเราเลี้ยวขวายูเทิร์นตัดหน้ารถที่มาตรงเพราะหงุดหงิดที่คอยจังหวะไปนานแล้ว เลยใช้ความเสี่ยงชิงตัดหน้ารถยนต์-รถเครื่องที่มาตรงอย่างกระชั้นชิด 

         ถ้าดูให้ดีแล้วทั้งเขาและเราสามารถใช้ความระมัดระวังหลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุชนกันได้ทั้งสิ้น เพราะก่อนชนกันนั้นส่วนใหญ่ทั้งสองฝ่ายมักจะเห็นกันอยู่ไม่ฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่ง  หากเราระมัด ระวังและไม่เสี่ยงบ้าบิ่นแล้วอุบัติเหตุจะเกิดยากมากครับ   ดังนั้นจะขอเปลี่ยนมาชวนคุย-ชวนคิดกันเรื่องความปลอดภัยระหว่างการมีทางรถถีบกับไม่มีทางรถถีบซึ่งเป็นการขี่ร่วมกับรถอื่นๆในท้องถนนทั่วไปดีกว่า ในที่นี้จะขอตัดประเด็นเรื่องทางรถถีบแบบแยกต่างหากออกไปก่อน เพราะเชียงใหม่เรายังไม่มีผู้บริหารบ้านเมืองที่สนับสนุนรถถีบอย่างจริงจังถึงขนาดนั้น  เมื่อปลายปี 2545 ท่านนายก เทศมนตรีนครเชียงใหม่ นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ ได้ลงมือรณรงค์ให้คนเชียงใหม่ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่เทศบาล ออกมาขี่รถถีบวันพุธ โดยนัดพร้อม ณ ข่วงประตูท่าแพเวลา 8 น. ปั่นรอบคูเวียง 1 รอบ ถึงเทศบาลราว 9 น. และได้เลิกไปแล้วหลังจาก 1 ปีผ่านไป.

 

LOGO GWF logo tcc logo rabn logo SSS