ทางเลือกในการเดินทางสำหรับคนเชียงใหม่

ทางเลือกในการเดินทางสำหรับคนเชียงใหม่                          

   นิรันดร  โพธิกานนท์

           การขี่จักรยานนับว่าเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับการเดินทางของคนในหลายประเทศ  เราได้ฟังหรือเห็นการขี่จักรยานกันจำนวนมากมายในประเทศจีน ทั้งในกรุงปักกิ่งและในเมืองอื่นๆ ที่ในเขตเทศบาลมักมีทางจักรยานแยกจากถนนรถเครื่องยนต์โดยเฉพาะ ส่วนในประเทศเวียตนามไม่ว่าจะเป็นในนครโฮจิมินห์ หรือกรุงฮานอยและเกือบทุกเมือง จักรยานถือว่าเป็นพาหนะของประชาชนทั่วไป เพราะใช้ร่วมถนนกับรถยนต์ที่มีส่วนน้อยและไม่ต้องมีทางจักรยานพิเศษอย่างในประเทศจีน  รถยนต์ต้องวิ่งอยู่กลางถนนด้วยความระมัดระวัง ในขณะที่สองข้างถนนเป็นพื้นที่สัญจรที่จักรยานยึดครองไปโดยปริยาย ณ ปี 2547 ผู้ที่ไปเวียตนามเล่าว่า จักรยานเริ่มถูกแทนที่ด้วยรถจักรยานยนต์คล้ายกับที่เริ่มเกิดขึ้นในเชียงใหม่เมื่อราว 30 ปีที่ผ่านมา  คนที่ขับขี่จักรยานยนต์ทั้งในเวียตนามและในประเทศจีนขณะนี้ส่วนหนึ่งก็เริ่มใฝ่ฝันถึงการขับขี่หลังพวงมาลัย ส่วนในนครเซี่ยงไฮ้นั้นผมคิดว่าหลงผิดไปไกล..เพราะถึงกับสั่งห้ามประชาชนขี่จักรยานในเขตมหานครเสียเลย..นัยว่าต้องการให้คนขี่จักรยานหันไปขึ้นรถไฟฟ้าเพื่อความทันสมัยควบคู่กับการส่งเสริมการใช้รถยนต์  ท่านทราบไหมครับประเทศจีนนำเข้าน้ำมันสูงมาก เนื่องจากการขยายตัวแบบก้าวกระโดดในด้านอุตสาหกรรมและเกิดการขาดแคลนพลังงานอย่างหนักในขณะนี้ ผมหวังว่าผู้บริหารของจีนในเมืองอื่นๆ คงฉลาดกว่าผู้บริหารเมืองเซี่ยงไฮ้ภาพคล้าย ๆ กันนี้เราเคยเห็นมาแล้วในเชียงใหม่ ในช่วงปี 2507 จนถึง 2513  มันเป็นภาพที่คนเชียงใหม่นอกเขตเทศบาลขี่รถจักรยานเข้ามาทำงานในเมืองตอนเช้าจากทุกทิศทุกทางจำนวนมาก  และหลัง 5 โมงเย็นก็ขี่รถจักรยานกันเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ กลับบ้าน  หลังจาก 2513 ไปแล้ว ภาพที่ได้เห็นคนขี่จักรยานก็จางลงไปเรื่อย ๆ ตามค่านิยมที่มีต่อรถจักรยานยนต์หลายยี่ห้อเพิ่มขึ้นเป็นกระแสหลัก จนเป็นที่มาของตำนานเพลงโฟล์คซองคำเมือง “สาวมอเตอร์ไซด์” ของศิลปินจรัล มโนเพ็ชร ที่สื่อว่า คนที่ขี่รถมอเตอร์ไซด์นั้นดูมั่งมีและสาวแลมองมากกว่าคนที่ขี่รถถีบ  ณ วันนี้เราก็เห็นผลของมันว่าเราสร้างถนนให้รถวิ่งเร็ว คนข้ามถนนยากมาก..เพราะมีเกาะกลางถนนแบ่งฟากเข้ามาถึงในตัวเมือง จะข้ามไปอีกฟากหนึ่งก็ต้องอ้อมวนเสียไกล คนที่เคยใช้จักรยานได้ก็หันไปใช้รถเครื่องยนต์แทน ส่งเสริมการใช้รถยนต์ ความทันสมัยเข้ามาครอบเราเหมือนรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่า..มันเป็นความทันสมัยที่ไม่ได้พัฒนาให้ชีวิตคนเชียงใหม่มีสุขภาวะเสียเลย  กรุงเทพฯเป็นอย่างไร ..เชียงใหม่ก็กำลังจะเป็นอย่างนั้นสาระที่ต้องการบอกตรงนี้ก็คือ  คนเชียงใหม่ในยุคสมัยก่อนนั้นขี่รถจักรยานในชีวิตประจำวันกันมากจริง ทุกฤดูกาล โดยไม่มีใครรู้จักร้อนและนึกถึงทางจักรยานแม้แต่น้อย แต่ในยุคเศรษฐกิจฟองสบู่เบ่งบาน  คนเชียงใหม่ทุกระดับชั้นก็กลายเป็นคนมีเงินจากการขายที่นา ที่สวน ให้คนต่างถิ่นและในท้องถิ่นทำธุรกิจจัดสรรที่ดิน รับเหมาก่อสร้าง ค้าหุ้น มีเงินซื้อบ้านจัดสรรและซื้อรถยนต์มาใช้ยกระดับฐานะบ้างและตามความจำเป็นบ้าง  และในปัจจุบันคนเชียงใหม่ใช้รถยนต์ส่วนตัวเดินทางจากหมู่บ้านจัดสรรรอบๆเมืองเข้ามาทำงาน ทำธุระในตัวเมือง  ประกอบกับที่รถเมล์เหลืองได้เลิกกิจการเมื่อปีที่เชียงใหม่ครบอายุ 700 ปีด้วยเหตุผลหลายอย่าง  ทำให้คนในเมืองเองก็ต้องใช้รถยนต์ส่วนตัวและจักรยานยนต์เดินทางระยะใกล้สมทบไปทำงานกันจำนวนมาก  มีผลให้รถติดในช่วงเช้าและเย็นจากรถยนต์ซึ่งกินพื้นผิวจราจรมากตามสี่แยกเข้าออกตัวเมือง และแออัดอยู่ในถนนที่ผ่านโรงเรียนต่าง ๆ และปล่อยควันพิษจากไอเสียที่มีระดับสูงไม่น้อยกว่ากรุงเทพฯ ในช่วงเวลาจอแจไว้ให้ลูกหลานที่ไปโรงเรียนและให้ตำรวจจราจรที่ปฏิบัติงานตามจุดต่างๆ  จนเราเริ่มรู้สึกว่าเราจะปล่อยให้หน่วยงานส่วนกลางที่ทำถนนหนทาง สั่งนโยบายและสั่งคนมาแก้ปัญหาจราจรด้วยการถมคูระบายน้ำ  ตัดต้นไม้ใหญ่ทิ้ง เพื่อสร้างหรือขยายถนน  ให้คนมีพื้นผิวถนนใช้รถยนต์ส่วนตัวใช้เพิ่มขึ้นต่อไปไม่ได้แล้ว  จำเป็นต้องสร้างหรือทำให้เมืองเชียงใหม่ มีระบบรถขนส่งสาธารณะที่ดีกว่าที่เคยเลิกไปและดีกว่ารถสี่ล้อแดงที่วิ่งรับผู้โดยสารแบบไร้ระบบและขาดวินัยจราจร  เพื่อให้คนเชียงใหม่และนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างประเทศสามารถใช้เดินทางถึงที่หมายได้ทันเวลาในราคาที่ยุติธรรมและให้ความเชื่อมั่นในระบบบริการได้  รวมทั้งส่งเสริมให้คนเชียงใหม่ที่อยู่อาศัยในเมืองสามารถขี่จักรยานในระยะใกล้ 1- 5 กม.ไปทำงานและให้ลูกหลานขี่ไปเรียนได้ และปรับปรุงมาตรฐานคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนนอกเขตเมืองให้ดีทัดเทียมกับในเมืองจนคนเชื่อมั่นในโรงเรียนใกล้บ้าน ไม่ต้องส่งลูกเข้ามาเรียนกันในโรงเรียนใหญ่ ๆ ไม่กี่แห่ง  จนเกิดปัญหาการจราจรติดขัดและมลพิษมากอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้

เมื่อเรามองไกลออกไปถึงทวีปยุโรปบ้าง ว่าคนในประเทศของเขาเดินทางในชีวิตประจำวันกันอย่างไร  ก็ได้ไปเห็นว่าคนฮอลแลนด์ เป็นคนยุโรปที่ขี่จักรยานเดินทางกันมากเป็นพิเศษ  ถึงแม้เขาจะมีฐานะดีกว่าเรามากก็ตาม   คนฮอลแลนด์ส่วนใหญ่ชอบและรักการขี่จักรยานเป็นชีวิตจิตใจ  อัตราการใช้จักรยานของคนฮอลแลนด์สูงที่สุดในโลก  ในเดนมาร์คก็ทราบว่าไม่ห่างไกลจากคนฮอลแลนด์เท่าใดนัก   ผมมีโอกาสได้ไปประเทศฮอลแลนด์ 3 ครั้งซึ่งรวมการฝึกอบรมระยะเวลา 4  เดือนในครั้งแรกด้วย  ไม่ว่าไปครั้งใดก็เห็นความนิยมขี่จักรยานที่นั่นที่ไม่ตกต่ำไปจากเดิม  ในเมืองเล็กที่มีการขยายเครือข่ายถนนต่าง ๆ จะมีการจัดทำทางจักรยานที่เชื่อมโยงกันอย่างทั่วถึง และมีทางจักรยานหลายแบบใช้กัน ตั้งแต่แบบที่ตีเส้นอยู่ข้างถนนให้ใช้ร่วมกับรถยนต์  แบบที่ร่วมกับทางเท้าและแบบที่แยกห่างจากถนนที่รถยนต์วิ่ง...เลียบขนานแนวต้นไม้ประดับหรือไม้ยืนต้นที่ให้ความร่มรื่น  หรือเป็นทางจักรยานขนานไปกับลำคลองต่าง ๆที่มีอยู่มากมาย  ส่วนในนครอัมสเตอร์ดัมซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดนั้น ต้องถือว่าเป็นเมืองแห่งจักรยานอย่างแท้จริง เพราะทุกหัวระแหงมีแต่คนใช้จักรยาน  ถนนก็มีทั้งซอยเล็กซอยน้อยเหมือนเมืองเชียงใหม่ คนขี่จักรยานกันไปได้ทั่วเมือง และในหลายย่านของนครอัมสเตอร์ดัมไม่ต้องมีทางจักรยานเป็นพิเศษเหมือนเมืองอื่นๆ  คนขับรถยนต์ของเขาถูกอบรมให้เอาใจใส่ดูแลและระมัดระวังการเฉี่ยวชนทั้งคนเดินท้าและผู้ขับขี่จักรยานเป็นอย่างดี  ณ ทางแยกทุกแห่งรถยนต์จะหยุดให้คนเดินเท้าและผู้ขับขี่จักรยานไปก่อนเสมอ เหมือนกับรถยนต์อยู่ในทางโท ซึ่งเปรียบเสมือนผู้คนทุกฝ่ายมีทางจักรยานในหัวใจ  ยกเว้นในถนนที่กำหนดว่าเป็นซูเปอร์ไฮเวย์เท่านั้นที่ห้ามจักรยานขึ้นไปซ่าอย่างเด็ดขาด  คนไทยที่ผมรู้จักบางคนให้ความเห็นว่า เหตุที่คนฮอลแลนด์นิยมใช้จักรยานมาก เพราะประเทศฮอลแลนด์มีภูมิประเทศที่ราบเรียบหรือต่ำกว่าน้ำทะเล พื้นที่เนินหรือภูเขามีน้อยมาก จนกระทั่งคนฮอลแลนด์คุยสนุกกับคนต่างชาติว่า ดอยที่สูงที่สุดของเขานั้นสูงตั้ง 2,300  กว่ามิลลิเมตร  ในช่วงเวลาสามสี่ปีที่ผ่านมาผมได้พบว่า คนฮอลแลนด์ที่มาเที่ยวเชียงใหม่ที่นำจักรยานมาร่วมขี่กับคนเชียงใหม่ในวันอาทิตย์ต่าง ๆ นั้นชักจะชอบจักรยานที่ขี่ขึ้นดอยกันแล้ว  จักรยานทุกคันที่มามีเกียร์และมีบังโคลนให้ใช้งานได้ทุกสภาพถนน  สำหรับเดนมาร์คนั้นผมยังไม่เคยไป ได้แต่ฟังการชื่นชมเรื่องการใช้รถจักยานและเห็นข้อมูลจากหนังสือบางเรื่องเพียงเล็กน้อย จึงไม่สามารถจะเล่าเบื้องหน้าเบื้องหลังเกี่ยวกับการใช้รถจักรยานและการพัฒนาทางจักรยานของเขาได้   ส่วนในประเทศเยอรมันซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตรถยนต์ขายมากที่สุดในยุโรปนั้น  ในปัจจุบันมีพรรคกรีนซึ่งเป็นพรรคที่เสนอนโยบายทางด้านสิ่งแวดล้อมในรัฐบาลผสมมากที่สุด ตั้งแต่รัฐบาลของนายเฮลมุท โคห์ลเป็นต้นมา และยิ่งได้รับการเลือกตั้งในสัดส่วนที่สูงขึ้นและได้ร่วมในรัฐบาลผสมของนายเกอร์ฮาร์ท ชโรเดอร์ในปัจจุบัน  พรรคกรีนได้กำหนดนโยบายส่งเสริมการใช้จักรยานอย่างกว้างขวางและมีมาตรการสนับสนุนให้คนใช้จักรยานอย่างเป็นระบบ จนในปัจจุบันนี้คนเยอรมันนิยมใช้จักรยานกันมากในเมือง ต่าง ๆ    ถึงแม้ความนิยมและรักการขี่จักรยานของคนเยอรมันจะไม่เกิดจากสภาพธรรมชาติและวิถีชีวิตที่สืบทอดกันมาแบบประเทศฮอลแลนด์ เพราะประเทศเยอรมันมีภูมิประเทศเป็นภูเขา  และที่ดอนมาก รวมทั้งได้ผ่านนโยบายการส่งเสริมให้มีรถยนต์ใช้กันต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยนาซีครองอำนาจ จนถึงช่วงทศวรรษ1970   หลังจากนั้นคนเยอรมันก็เริ่มหันมาขี่จักรยานกันเพิ่มขึ้นด้วยเหตุผลและปรัชญาที่มาจากปัญหาสภาพแวดล้อมและความจำเป็นหลายอย่างเป็นหลัก  รวมทั้งเหตุผลด้านประสิทธิภาพในการเดินทางและความสะดวกจากการใช้จักรยานในเมือง  เหตุผลด้านการประหยัดยังเป็นรอง รัฐบาลเก็บภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงสูงมาก  แต่มีระบบรถขนส่งสาธารณะต่างๆ และมาตรการที่สนับสนุนให้คนใช้จักรยานเป็นทางเลือก โดยเฉพาะเมืองที่มีมหาวิทยาลัยตั้งอยู่มักจะมีสภาพเป็นเมืองจักรยาน  เราจะเห็นจักรยานจอดกันจำนวนหลายร้อยคันตามหอสมุด  อาคารเรียน  โรงอาหารกลางของมหาวิทยาลัย และหน้าสถานีรถไฟ  ในแต่ละรัฐหรือแคว้นและแต่ละเมือง  ต่างก็มีที่จอดรถจักรยานฟรีทั่วเมือง  มีทางจักรยานให้คนเดินทางเชื่อมโยงไปยังจุดหมายปลายทางหลายลักษณะและรูปแบบ  มีระบบให้ผู้โดยสารรถไฟและรถใต้ดินนำจักรยานติดไปด้วยได้และคิดค่าระวางจักรยานบ้างเล็กน้อย(แต่นับว่าแพงสำหรับคนไทย)  รวมทั้งมีทางจักรยานลัดป่า ทะลุหมู่บ้าน  เรียบแม่น้ำหรือเลียบทางรถไฟบางสาย รวมทั้งมีทางจักรยานเชื่อมโยงระหว่างเมืองและแคว้นเป็นระยะทางรวมกันหลายหมื่นกิโลเมตร  โดยเฉพาะเมือง Braunschweig ในแคว้น Niedersachsen ที่ไปเยี่ยมล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคม 2544 นั้น ก็พบว่าถนนสายเดิมข้างบ้านที่ไปพักนั้น แต่เดิมเมื่อ 10 ปีก่อนเป็นถนนที่เริ่มตีเส้นทางจักรยานไว้ในถนนทั้งสองฟาก ครั้งล่าสุดนี้มีการลดขนาดผิวถนนสำหรับรถยนต์ลงไปร่วมร้อยละ 50  และกำลังทำการปรับปรุงเสริมยางเก็บเสียงของทางรถรางที่มีอยู่เดิมและสวนกันได้ ให้เสียงล้อเหล็กเงียบลงขณะที่รถรางวิ่งผ่าน เพื่อให้คนในย่านนั้นไม่ถูกรบกวนจากเสียงในเวลานอนมากเกินไป  พร้อมกันนั้นก็ขยายทางเท้าเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกสองเท่าตัว โดยทำแนวเว้าจากถนนเข้าไปในทางเท้าที่กว้างขวางนั้นบางส่วนให้รถยนต์จอดได้แทนในจำนวนที่ลดลงจากเดิม...แน่นอนต้องเสียค่าจอดตามเวลาโดยการหยอดเหรียญจากตู้ขายบัตรอัตโนมัต  แล้วเอาบัตรจอดรถนั้นวางในรถให้ตำรวจของเทศบาลเห็นได้ผ่านกระจกหน้า แล้วจัดให้ผิวทางเท้าที่ขยายออกไปนั้นมีทางจักรยานทั้งสองฟากถนน  ซึ่งนับว่าน่าทึ่งมากทีเดียว เพราะในการพัฒนาเมือง Braunschweig นั้น เขาทำสวนทางกับที่บ้านเรากำลังทำอยู่  คือ..เรายังมีคนที่ดูแลการจราจรเสนอให้ขยายผิวถนนเพื่อเพิ่มเลนให้รถยนต์วิ่งเข้ามาจากทางสันทรายได้มากขึ้น โดยเสนอตัดต้นไม้ข้างทางทิ้งและลดทางเท้าลง แต่นับว่ายังดีที่หลายฝ่ายไม่เห็นด้วย  เพราะเห็นกันแล้วว่าการสร้างหรือขยายผิวถนนโดยไม่สนใจระบบขนส่งสาธารณะและทางจักรยาน กลายเป็นสร้างนโยบาย ขยายพื้นผิวจราจรให้คนซื้อรถยนต์มาใช้กันเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว  ในช่วงตั้งแต่เดือนธันวาคม 2544 ที่ผ่านมาเทศบาลนครเชียงใหม่ได้รับการสนับสนุนจากรวมพลังหารสอง ให้ทำแผนทางจักรยานและการรณรงค์การขับขี่จักรยานอย่างครบวงจร ซึ่งน่าจะเป็นการทำแผนการสร้างทางจักรยานที่เชื่อมโยง  โดยต้องมีนโยบายส่งเสริมการขี่จักรยานของเทศบาลนครเชียงใหม่และเทศบาลต่าง ๆ รองรับ   การสร้างทางจักรยานโดยขาดนโยบายของฝ่ายบริหารบ้านเมืองและไม่มีการรณรงค์ใดๆ จะทำให้การลงทุนนั้นเสียเปล่า  ดังตัวอย่างเช่นทางจักรยานของเชียงใหม่ที่เป็นทางการครั้งแรก เกิดขึ้นบนถนนโชตนาสายเชียงใหม่-แม่ริมโดยไม่มีใครคิดรณรงค์อะไร  จึงได้ถูกรื้อถอนทิ้งไปในเวลาถัดมาเนื่องจากการขับขี่จักรยานเพิ่งถูกลืมไปใหม่ๆ  ถัดมาก็เป็นทางจักรยานที่มหา วิทยาลัยเชียงใหม่สร้างขึ้นโดยการตีเส้นและเขียนรูปจักรยานในช่วงปี 2536-38  และการสร้างทางจักรยานที่ใหญ่โตแยกต่างหากไว้สองฟากถนนช่วงสามพรานกับตัวเมืองนครปฐมโดยไม่มีใครสนใจรณรงค์การขี่จักรยานใดๆ  เพราะทำให้คนเห็นแค่การสร้างภาพการมีวิสัยทัศน์เฉยๆ แต่ประชาชนไม่ได้รับรู้ ถึงข้อดีเกี่ยวกับการใช้จักรยาน และไม่มีผู้บริหารบ้านเมืองและผู้บริหารมหาวิทยาลัยระดับสูงที่ปฏิบัติและชักชวนประชาชนให้ร่วมปฏิบัติเป็นแบบอย่าง  และจากนั้นก็กลายเป็นที่ขายของจากรถเข็นและหาบเร่แผงลอย หรือที่จอดรถมอเตอร์ไซด์หรือรถยนต์ไปในที่สุด  ในช่วงถัดไปนี้..ขอเสนอทางจักรยานเมืองเชียงใหม่ ที่ควรรณรงค์ให้เกิดเป็นนามธรรมและส่วนที่ทำขึ้นให้ใช้ได้สะดวกและปลอดภัยจริงเป็นรูปธรรม ในมุมมองของผู้ที่ใช้จักรยานกันเป็นประจำอยู่แล้ว ดังนี้1.  ทางจักรยานในหัวใจ -  ทางจักรยานในหัวใจคือความมีน้ำใจและความเข้าใจของผู้ใช้รถใช้ถนนทุกฝ่าย ที่เห็นประโยชน์ร่วมกันว่า  การทำให้คนเชียงใหม่ใช้จักรยานกันมากไม่ทำให้รถติด  แต่กลับจะทำให้ผิวถนนว่างมากขึ้น จนผู้ที่จำเป็นต้องใช้รถยนต์อย่างแท้จริง และไม่คิดอวดมั่งอวดมี สามารถเดินทางได้คล่องตัวเพราะรถไม่ติด  แถมยังเป็นการช่วยกันลดมลพิษให้อากาศสดใส เมืองเชียงใหม่น่าอยู่  การมีทางจักรยานในหัวใจคือการร่วมด้วยช่วยกันให้ทางแก่ผู้ใช้จักรยานและช่วยกันดูแลให้การขับขี่จักรยานของผู้ที่เสียสละ...มีความปลอดภัย  ทางจักรยานในหัวใจจะเกิดขึ้นจากการร่วมช่วยกันสร้างขึ้นจากทุกฝ่ายอย่างครบวงจร ผ่านการรณรงค์และการประชาสัมพันธ์ที่ครบถ้วน โดยผู้บริหารบ้านเมือง  ทางจักรยานในหัวใจ ถึงแม้จะเป็นนามธรรม..แต่มีความสำคัญสูงสุดเสมอ และจะช่วยให้การมีทางจักรยานที่เป็นด้านกายภาพหรือรูปธรรมประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน2.  ทางและถนนจักรยานที่เป็นกายภาพด้วยการทาสีตีเส้น ปักป้ายเครื่องหมายทางจราจรและกำหนดระบบจราจรของทางและถนนจักรยาน  เส้นทางจักรยานต้องมีความเชื่อมโยงพอเพียง  ทำให้คนเดินทางด้วยจักรยานไปไหนๆ ในชีวิตประจำวันเช่นไปเรียน-ไปทำงานได้อย่างแท้จริง  ในเบื้องต้นที่จะทำนั้นต้องสามารถให้คนใช้จักรยานเดินทางต่อเนื่องกันได้อย่างน้อยถึง 5 กม. โดยคิดจากจุดหมายปลายทางเช่นสถานศึกษา สถานที่ราชการสำคัญ ๆ จากศูนย์การค้า  จากวัด  โบสถ์สุเหร่า และโบราณสถานที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวย้อนกลับไปยังแหล่งที่อยู่อาศัยของคนเชียงใหม่ที่กระจาย อยู่ในย่านต่างๆ  ทางจักรยานที่ชัดเจนควรประชาสัมพันธ์ให้คนเข้าใจว่า...หากขับรถเข้าไปชนคนขี่รถจักรยานเมื่อใด จะต้องเป็นฝ่ายผิดและรับผิดชอบอย่างเต็มที่  จะทำให้คนใช้รถยนต์ดูแลให้ทางผู้ใช้จักรยานเป็นอย่างดีและทำให้คนเชื่อมั่นในความปลอดภัยสูงมาก  เมืองเชียงใหม่สามารถมีทางจักรยานและถนนจักรยานได้หลายลักษณะ ดังนี้2.1      ทางจักรยาน2.1.1      ร่วมกับทางเท้า ไม่อยู่ในผิวถนน โดยผู้ใช้จักรยานต้องดูแลให้ทางและระวังไม่ขี่ให้เกิดอันตรายแก่คนเดินเท้าเท้า และสามารถลงจากทางเท้าเพื่อเดินทางต่อเนื่องได้อีกอย่างปลอดภัย ในปัจจุบันนี้มีถนนเพียงบางสายที่อาจใช้ทางเท้าแบ่งเป็นทางจักรยานได้ เช่น ถนนอัษฎาธร จากสี่แยกถนนรัตนโกสินทร์ไปกาดคำเที่ยง และจากขัวเหล็กเลียบน้ำปิงไปยังสะพานนวรัฐ..แต่ต้องย้ายป้ายและเสาไฟฟ้าซึ่งเป็นเรื่องที่ยังวุ่นวายมาก2.1.2      แยกจากถนนสัญจรตามปกติโดยอาศัยไหล่ถนนที่มีอยู่แล้ว หรือแนวต้นไม้กั้นแยกออกจากกัน(ถ้ามีพื้นที่มากจริง) และใส่องค์ประกอบให้เหมาะสม ชัดเจน มีความปลอดภัยและแสดงเส้นเชื่อมโยงไปยังถนนอื่นไม่ว่าจะต้องตรงไป เลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวา ซึ่งเห็นว่าจะทำได้ในถนนที่ให้รถวิ่งเร็วหรือถนนเชื่อมนอกเมืองกับจุดเข้าตัวเมืองซึ่งมักมีไหล่ถนนกว้าง 1.5 2 เมตรอยู่แล้ว2.1.3      ร่วมอยู่ในผิวถนนหรือผิวจราจร โดยอาศัยการทาสี ตีเส้นกำหนดทางจักรยานที่กว้างอย่างน้อย 1.2 เมตร แล้วปักป้าย เครื่องหมายจราจรสำหรับทางจักรยาน ที่ครบถ้วนชัดเจน แสดงเส้นประเชื่อมโยงผ่านทางแยก แสดงแนวเลี้ยวขวา และไปตรง เชื่อมกับถนนที่ต่อเนื่องให้ผู้ขับขี่รถเครื่องยนต์เห็นเส้นทางของผู้ใช้จักรยานอย่างชัดเจน  และทางจักรยานที่ทำขึ้นต้องไม่ให้กลายเป็นที่จอดของรถยนต์อย่างเด็ดขาด และสำหรับถนนที่ใช้ระบบจราจรทางเดียวในเชียงใหม่บางสายที่ทำให้รถจักรยานถูกบังคับให้อ้อมวนตามรถเครื่องยนต์ไปด้วยนั้น ทำให้ไม่เป็นที่น่าจูงใจอย่างยิ่งสำหรับการใช้จักรยานโดยไม่ตั้งใจ  หากให้สามารถขี่จักรยานสวนกลับได้โดยมีทางจักรยานทำไว้รองรับบนฟากที่รถยนต์ไม่จอด จะจูงใจให้คนหันมาใช้จักรยานกันเพิ่มขึ้นเพราะขี่จักรยานลัดเส้นทางและทุ่นแรงได้ถึงขั้นเปลี่ยนพฤติกรรม โดยไม่ต้องดูแลการห้ามจอดรถยนต์ทับทางจักรยานนั้นเป็นพิเศษแต่อย่างใด2.2      ถนนจักรยาน คือถนนที่กำหนดให้รถทุกชนิดวิ่งได้ตามทิศทางจราจรที่ทางตำรวจกำหนดไว้  แต่            2.3      กำหนดให้ใช้ความเร็วของจักรยานเช่น 15 หรือ ไม่เกิน 20 กม./ชม. จักรยานวิ่งได้แบบจราจรสองทาง ซึ่ง        2.4      สวนซ้ายกันตามธรรมชาติของการจราจรบ้านเรา และมีการเขียนรูปจักรยานไว้กลางถนน  มีป้ายบอกที่หัวท้าย    2.5      ถนน ให้รถยนต์และจักรยานยนต์ทราบว่าวิ่งได้ทางเดียวหรือสองทางและรถเครื่องยนต์ต้องดูแลผู้ใช้จักร        2.6      ยานเป็นพิเศษ   หน่วยงานของรัฐที่สามารถมีส่วนร่วมทำทางจักรยานให้เมืองเชียง ใหม่ ได้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทำหรือสร้างถนนอยู่แล้ว ได้แก่เทศบาล อบต.ต่าง ๆ โยธาธิการและผังเมืองและสำนักงานทางหลวงจังหวัด และสำนักงานทางหลวงชนบท  ที่เปิดใจรับรู้ความต้องการของท้องถิ่น    ปัจจุบันเรามีคณะทำงานส่งเสริมการใช้จักรยานในเชียงใหม่แล้ว  คณะทำงานนี้จะส่งเสริมให้คนหันมาเลือกใช้จักรยานเป็นทางเลือกของการเดินทางระยะใกล้ในชีวิตประจำวันได้ยาก..ถ้าเราไม่เริ่มต้นที่นโยบายการมีทางจักรยานที่ใช้ได้สะดวกและปลอดภัยอย่างแท้จริง--------------------------

 

LOGO GWF logo tcc logo rabn logo SSS