สัญลักษณ์แห่งการมีนโยบายส่งเสริมการใช้จักรยาน
เส้นทางจักรยานและระบบจราจรที่เอื้อต่อการใช้จักรยานในเมืองเชียงใหม่
เมืองเชียงใหม่ที่เขียว-สะอาดและน่าอยู่ เป็นความต้องการของคนเชียงใหม่ และเป็นนโยบายของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร การที่เมืองเชียงใหม่ขาดแคลนรถประจำทางสาธารณะที่ดี ทำให้จำนวนรถยนต์ รถมอเตอร์ไซด์ส่วนตัวเพิ่มขึ้นตามจำนวนถนน ที่ผ่านมาการขยายความกว้างของผิวจราจรเพื่อรองรับจำนวนพาหนะที่เพิ่มขึ้น กลายเป็นนโยบายส่งเสริมการใช้รถยนต์ส่วนตัวไปอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และจนบัดนี้ยังไม่เคยมีการใช้มาตรการจำกัดจำนวนรถยนต์ส่วนตัวโดยอาศัยการให้ผู้ขอจดทะเบียนพิสูจน์หรือแสดงหลักฐานว่ามีที่จอดรถ ณ สถานที่ทำงานหรือสถานศึกษา และที่อยู่อาศัยโดยไม่ไปเบียดเบียนท้องถนนสาธารณะ จนปัจจุบันการจราจรในเมืองเชียงใหม่มีปัญหารถติด-มลพิษมากอยู่ทั่วไป
เมืองเชียงใหม่เริ่มมีการทำทางจักรยานที่ประกาศใช้อย่างเป็นทางการจากความเห็นร่วมกันของเทศบาล ชมรมจักรยานในเมืองเชียงใหม่และตำรวจจราจรโดยเฉพาะในสมัย ที่พ.ต.ท.ประหยัช บุญศรี ดูแลรับผิดชอบการจราจร ตั้งแต่ พ.ศ.2541 เป็นต้นมา โดยใช้วิธีการทาสี ตีเส้น และปักป้าย“ทางเฉพาะจักรยาน”อยู่ในถนนหลายสาย บางสายมีทางจักรยานร่วมอยู่บนทางเท้า แต่ปัญหาหลักที่ไม่สามารถดูแลทางจักรยานได้ก็คือ
1. รถยนต์ส่วนตัวใช้ทางจักรยานในผิวถนนเป็นที่จอด(ถ.สุเทพ มนีนพรัตน์ เจริญเมืองฯ)โดยไม่มีการจัดการดูแล(ดู 3ภาพถัดไป)
ถนนสุเทพ ถนนรัตนโกสินทร์ ถนนศรีดอนไชย
2. ทางจักรยานร่วมบนทางเท้าในถนนรัตนโกสินทร์ช่วงหลัง รร.ปริ๊นซรอยฯ ถึงป่าช้าสันกู่เหล็ก ถูกร้านค้า และรถเร่ ยึดเป็นทำเลค้าขาย
มีการตั้งป้ายโฆษณาหรือถูกใช้เป็นที่จอดขายรถยนต์มือสอง
การดูแลทางจักรยานให้ไม่ถูกบุกรุกหรือใช้ประโยชน์ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ จำเป็นต้องอาศัยการดูแลจากผู้มีหน้าที่ในบ้านเมืองอย่างจริงจัง ดังต่อไปนี้
1) ทางจักรยานร่วมบนทางเท้า ควรได้รับการดูแลด้วยนโยบายของนายกเทศมนตรี ผู้เห็นชอบหรืออนุมัติให้สร้าง โดยตำรวจเทศกิจของเทศบาล
2) ทางจักรยานในผิวถนนทุกสาย ควรได้รับการดูแลด้วยนโยบายส่งเสริมการใช้จักรยานของเมืองเชียงใหม่ โดยตำรวจจราจรเชียงใหม่ หรือ
3) ทำทางจักรยานในถนนที่จะไม่มีปัญหาการจอดรถคร่อมทับในถนนและเส้นทางซึ่งจูงใจต่อการใช้จักรยาน และอาศัยการมีนโยบายส่งเสริม
การใช้จักรยานจากผู้บริหารบ้านเมือง โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมเสนอแนะถนนยุทธศาสตร์สำหรับการใช้จักรยานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
“ทางจักรยานในถนนทางเดียว”ในถนนบางสายซึ่งจะไม่มีการจอดรถยนต์อยู่แล้วในเส้นทางที่สวนกลับจึงเป็นถนนยุทธศาสตร์และทางออกแรกๆ ที่ควรดำเนินการเพื่อส่งเสริมการใช้จักรยาน ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของเมืองที่มีนโยบายส่งเสริมการใช้จักรยานอย่างแท้จริง ทั้งจากผู้ว่าราชการจังหวัด และนายกเทศมนตรีในท้องที่ นิรันดร โพธิกานนท์(2546) ได้อธิบายข้อดีและการจูงใจของ“ทางจักรยานในถนนทางเดียว”ไว้ในข่าวสารชมรมจักรยานวันอาทิตย์ ฉบับเดือนตุลาคม 2546 และค้นอ่านได้ในเว็บไซด์ “www.cmbikenet.org”
ถนนทางเดียวในเชียงใหม่มีหลายสาย แต่ที่เห็นว่าเป็นถนนยุทธศาสตร์ สำหรับทำทางหรือถนนจักรยานเป็นสายแรกๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นไปนั้น…ควรเป็นถนนที่มีศักยภาพต่อการใช้ เพราะเป็นที่ตั้งของจุดหมายปลายทางต่างๆ เช่นโรงเรียน สถานที่ทำงานทั้งของรัฐและเอกชน โรงแรม หรือเกสท์เฮาส์ รวมทั้งสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ศาสนาและวัฒนธรรม ..หรือเป็นถนนเส้นทางผ่านที่จะนำไปสู่จุดหมายปลายทางในชีวิตประจำวันของผู้เดินทางจำนวนมาก และปกติเป็นถนนทางเดียวที่ให้จอดรถยนต์อยู่เพียงฟากเดียว เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายซึ่งเดินทางในชีวิตประจำวันได้แก่ ผู้ปกครอง ครู-นักเรียน และ คนทำงานทั้งในภาครัฐและเอกชน รวมทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศ สามารถเดินทางไปยังจุดหมายปลายทาง ทั้งขาไปและกลับได้โดยการใช้จักรยาน ทั้งนี้ขาไปให้ใช้ถนนร่วมกับรถอื่นๆ ตามทิศทางจราจร และสร้างทางจักรยานไว้ในฟากขวามือสำหรับให้ผู้ใช้จักรยานขี่สวนกลับมาได้ ทางจักรยานในถนนเหล่านั้นได้แก่
1) ทางจักรยานสวนกลับได้ ในถนนลอยเคราะห์ ตั้งแต่ขัวเหล็ก ผ่านไนท์บาซา เชื่อมต่อกับถนนราชมรรคาในเขตคูเวียง ผ่าน รร.อนุบาลเชียงใหม่ ถึงหน้า รร.วัฒโนทัยพายัพ ซึ่งเชื่อมกับทางจักรยานหน้าโรงเรียนไปสู่ถนนสุเทพ โดยใช้การทาสีตีเส้น ปักป้ายทางจักรยานในผิวถนน ให้มีความกว้าง 1.2 เมตร และปรับวิธีการจอดรถยนต์หน้ารร.อนุบาลเชียงใหม่ให้ผู้ใช้จักรยานเดินทางผ่านได้สะดวกและปลอดภัย
2) ทางจักรยานสวนกลับได้ ในถนนช้างม่อย ตั้งแต่ถนนวิชยานนท์ไปถึงถนนชัยภูมิ ซึ่งอยู่นอกคูเวียงด้านตะวันออก และหากมีการปรับเปลี่ยนวิธีการจอดรถก็สามารถเชื่อมต่อเข้าถนนราชวิถีผ่าน รร.ยุพราช และย่านถนนคนเดินวันอาทิตย์ ไปยังหอศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่ถัดจากอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ และสามารถใช้เดินทางไปวัดพระสิงห์หรือ รร.เทคนิคเชียงใหม่ และรร.หอพระได้ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับซอยอารักษ์ 3 ผ่าน บ.สยามทีวีไปยังถนนอารักษ์และออกนอกคูเวียงเข้าถนนบุญเรืองฤทธิ์เชื่อมต่อกับถนนห้วยแก้วได้
3) ทางจักรยานสวนกลับได้ ในถนนเจริญประเทศ ตั้งแต่เชิงสะพานนวรัฐ จวนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ผ่านสี่แยกถนนลอยเคราะห์-ขัวเหล็ก ตลาดอนุสาร และโรงเรียน 4 แห่งในถนนเจริญประเทศจนถึงสะพานเม็งราย จากนั้นสามารถทำทางจักรยานเลียบถนนต้นยางจากโรงพยาบาลราชเวท ผ่านค่ายกาวิละมายังสะพานนวรัฐได้ในระยะต่อไป
4) ทางจักรยานสวนกลับได้ ในถนนท่าแพ ตั้งแต่ ข่วงประตูท่าแพ ถึงสะพานนวรัฐ (เคยทำมาแล้วแต่ถูกยกเลิก..แม้มีผู้ใช้โดยไม่มีปัญหาใดๆ ก่อนรื้อเส้นสีทาออก เป็นเวลานานกว่า 33 เดือน) และใช้กึ่งหนึ่งของทางเท้าบนสะพานนวรัฐเป็นทางจักรยานเชื่อมโยงกับถนนเจริญเมือง ผ่านตลาดสันป่าข่อย ไปสถานีรถไฟ(ฝั่งตรงข้ามจะมีสวนสาธารณะ) และเชื่อมโยงกับถนนทุ่งโฮเต็ล ในอนาคตจะเชื่อม โยงกับถนนที่ออกแบบให้มีทางจักรยานระหว่างเชียงใหม่-สันกำแพงอีกด้วย ปัจจุบันถนนท่าแพอยู่ในระหว่างการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ จึงยังไม่เสนอให้ดำเนินการใดๆในระยะนี้
5) ออกประกาศให้มี “ถนนจักรยาน” ในทุกซอยสองฟากของถนนท่าแพ ไปเชื่อมกับทั้งถนนช้างม่อยและถนนลอยเคราะห์ให้ขับขี่จักรยานสวนกลับได้สำหรับการเดินทางเชื่อมโยงที่ลัด สะดวก และจูงใจให้เปลี่ยนพฤติกรรม จนผู้อยู่อาศัยใกล้เคียงไม่คิดใช้รถยนต์หรือจักรยานยนต์เดินทางในระยะใกล้อีกต่อไป
หมายเหตุ :
1) “ทางจักรยานสวนกลับได้ในถนนทางเดียว” ในถนนลอยเคราะห์ ช้างม่อย เจริญประเทศ และท่าแพ ทำให้เกิดความสะดวก ลัดเส้นทางและลดการบังคับให้อ้อมวนกลับ จึงจูงใจให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้รถยนต์หรือจักรยานยนต์แต่เดิมมาเลือกใช้จักรยานได้ รวมทั้งตอบสนองการเป็นเขตปลอดยานยนต์ โดยเฉพาะในวันอาทิตย์ที่มีถนนคนเดินในเขตคูเวียงด้วย
2) “ถนนจักรยาน” หมายถึงถนนที่รถทุกชนิดวิ่งได้ด้วยความเร็วของรถจักรยาน คือ ไม่เกิน 15 – 20 กม./ชม. และรถที่มีเครื่องยนต์ต้องดูแลให้ทางแก่ผู้ใช้จักรยานเป็นพิเศษ ความพิเศษนี้ทุกคนจะได้รับเมื่อหันมาร่วมใช้จักรยาน มีการใช้ในยุโรปหลายประเทศและในจ๊อกยาการ์ตา อินโดนีเซีย(ดูภาพ)
ผลที่คาดว่าจะได้รับจากทางและถนนจักรยานในถนนยุทธศาสตร์
1) ประชาชนที่ได้รับประโยชน์อย่างจูงใจ จะร้องขอให้ขยายทางหรือถนนจักรยานไปยังพื้นที่อื่นๆและถนนต่างๆตามแผนของเทศบาลฯอีก 31 สาย ให้เป็นทางจักรยานที่ใช้ได้จริง รวมทั้งแผนทางจักรยานอื่นที่รออยู่
2) จำนวนคนใช้จักรยานจะเพิ่มขึ้นและร่วมดูแลหรือฟื้นฟูทางจักรยานเดิมให้ใช้ได้จริง
3) การใช้รถยนต์ลดลง จะมีที่ว่างสำหรับจอดรถเพื่อติดต่อซื้อขายและทำกิจธุระที่ใช้เวลาสั้นได้จำนวนมากขึ้น
4) ผู้คนทุกวัยสามารถจะเดินเท้าข้ามถนนและช่วยตนเองได้มากขึ้นในชีวิตประจำวัน เพราะจักรยานช่วยลดความเร็วของการขับขี่ยวดยานที่เคยเร็ว
เกินไป ทำให้คนเชียงใหม่สามารถใช้ชีวิตที่เป็นปกติสุขได้มากขึ้น
5) เมืองเชียงใหม่จะมีมลพิษที่เป็นภัยต่อสุขภาพน้อยลง กลายเป็นเมืองที่น่าอยู่ยิ่งขึ้น
6) นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทสสามารถใช้จักรยานเดินทางท่องเที่ยวสะดวกและพักอยู่ในเชียงใหม่นานขึ้น เป็นผลดีต่อการเพิ่มรายได้แก่ เมืองเชียงใหม่
@@@@@@@@@@@